ราชบุรี ในวันนี้( 3 ก.พ. 64 ) นายเจริญ ประวีณไว เกษตรอำเภอปากท่อ จ.ราชบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร ลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงปลูกกะหล่ำดอกของเกษตรกรในพื้นที่ ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ หลังได้รับแจ้งจากนายทิพนันท์ บุตรน้ำเพชร และนายสุวิน เศรษฐี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ต.ทุ่งหลวง ว่ามีเชื้อราระบาดอย่างหนักในกระหล่ำดอก โดยเชื้อราได้เกิดบริเวณกลางดอกเป็นจุด ๆ ลุกลามไปทั้งดอก ส่งผลกระทบให้เกษตรกรตัดขายกะหล่ำดอกไม่ได้ แม้จะเลือกเก็บเอาแต่เฉพาะดอกที่เริ่มเป็นราจุดเล็กๆ ขายกิโลละ 2 บาทก็ยังไม่มีแม่ค้ามารับซื้อ หมดเงินกับที่ต้องลงทุนไปรายละนับหมื่นบาท หลายคนปลูกกะหล่ำดอกเป็นพืชระยะสั้นที่ปลูกในช่วงฤดูหนาวหวังที่จะมีเงินใช้จ่าย ช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 แต่กลับเจอโรคระบาดเป็นเชื้อรายกแปลง ยกตำบล ที่เจอโรคระบาดได้แก่ ต.ทุ่งหลวง ต.ดอนทราย และ ต.หนองกระทุ่ม ของ อ.ปากท่อ เนื้อที่ที่ได้รับผลกระทบรวมกว่า 800 ไร่
โดยนางฝนทอง จอมเผือก อายุ 53 ปี เกษตรกรปลูกกะหล่ำดอก หมู่ 7 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ เปิดเผยว่า ที่บ้านปลูกกะหล่ำดอกประมาณ 10 ไร่ ปัญหาน่าจะเกิดจากเชื้อราระบาดจำเป็นต้องทำลายทิ้งทั้งหมด เคยเกิดปัญหามาแล้วแต่ก็ไม่หนักเหมือนอย่างปีนี้ ใช้ยาฉีดควบคุมดูแลได้ เข้าใจว่ามีลมทะเลพัดเข้ามาในพื้นที่ทำให้หน้ากะหล่ำดอกจะมีลักษณะช้ำแต่พอฉีดยาตามปกติ ก็จะเริ่มหายไป แต่มาปีนี้ใช้ยาชนิดไหนก็ไม่สามารถควบคุมได้เลย ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร รายอื่นก็เป็นแบบนี้เหมือนกันหมดทั้งตำบล อย่างแปลงนี้ 10 ไร่ ลงทุนเป็นเงิน 5 หมื่นกว่าบาท ขณะที่เคยปลูกกะหล่ำดอกปีที่ผ่านมาได้เงินเป็นหลักแสนบาท แต่มาปีนี้ยังขายไม่ได้เงินเลย ในหมู่บ้านนี้จะมีเกษตรกรปลูกกะหล่ำดอกประมาณ 50-60 ราย พอเริ่มเป็นดอกก็จะเริ่มมีเชื้อราผุดขึ้นเป็นจุด ๆ จนเต็มดอก และเริ่มมีสีน้ำตาลเข้ม จากนั้นก็เน่าเสียในที่สุด
ด้าน นายเจริญ ประวีณไว เกษตรอำเภอปากท่อ กล่าวว่า สาเหตุจากหลักทางวิชาการได้ทราบเบื้องต้นแล้วว่า สภาพอากาศที่หนาวจัด ทำให้เกิดเชื้อราและบวกกับเรื่องที่เกษตรกรเปลี่ยนสายพันธุ์ปลูก และมีการปลูกที่ผิด โดยเกษตรกรจะรดน้ำตั้งแต่ตี 4 จะทำให้เชื้อราโตไวขึ้น เป็นประเด็นหลักปีนี้เกิดสภาพหนาวหนักและหนาวนาน และท้องฟ้าเปิดช้าเลยเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อราเข้ามาในพื้นที่ และยังมีเชื้อแบ็คทีเรียจากการดมดูจะมีกลิ่นเหม็นอีก ส่วนวิธีการแนะนำเกษตรกรคือ ให้ทำลายทิ้งโดยการเอาไปทำน้ำหมักชีวภาพ ใช้กะหล่ำดอกนี้ 3 ส่วน และกากน้ำตาล 1 ส่วน มาหมักลงในถัง และใช้พด. 2 ของสำนักงานเกษตรมาเพิ่มหมักเชื้อราอีกชนิดหนึ่งเพื่อมากินเชื้อรานี้ จะได้ปุ๋ยแทนการนำไปทำลายทิ้ง เป็นวิธีที่ไวที่จะกำจัดพวกนี้ให้ไม่มีเชื้อในบรรยากาศอีกต่อไป
นอกจากนี้ยังได้รับการประสานจากเทศบาลตำบลทุ่งหลวง ในการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรและนำดอกกะหล่ำส่งไปให้กรมวิชาการเกษตรตรวจพิสูจน์แล้ว หากทราบผลแล้วจะแจ้งให้ทางเทศบาลตำบลทุ่งหลวงนำเข้าสู่เรื่องภัยพิบัติเกิดจากสาเหตุอะไร ต้องระบุให้แน่ชัด จึงจะดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในพื้นที่ได้
สำหรับปัญหาดังกล่าวได้รับรายงานเรื่อยๆ แต่ปีก่อนนั้นไม่มีสภาพอากาศหนาวมากนัก ประกอบกับเกษตรกรใช้พันธุ์กะหล่ำดอกพันธุ์เดิม แต่มาปีนี้จากการสอบถามทราบว่าเกษตรกรไม่ได้ปลูกกะหล่ำดอกพันธุ์เดิมเพราะขาดสายพันธุ์ จึงหาพันธุ์อื่นมาปลูก เลยมาเกิดโรคดังกล่าวขึ้นถือเป็นสาเหตุหลัก อีกทั้งยังมีอีกหลายสาเหตุย่อยๆ ทั้งการรดน้ำตั้งแต่กลางคืนจะมีส่วน ส่วนการใส่ปุ๋ยให้งามเกินไปก็อ่อนแอต่อโรค
สำหรับแนวทางช่วยเหลือนั้นขั้นแรกเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรก่อน และทางเจ้าหน้าที่จะช่วยเหลือการเยียวยากับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยสิ้นเชิงไร่ละ 1,360 บาท แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจวิจัยของกรมวิชาการเกษตรอยู่เกิดจากเชื้ออะไรแน่ คาดว่าสัปดาห์นี้คงทราบผลชัดเจน ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหานั้น เกษตรกรต้องปลูกพืชแบบหมุนเวียน โดยให้เลี่ยงการรดน้ำจากช่วงกลางคืนมาเป็นเวลากลางวัน ส่วนสภาพอากาศเลี่ยงไม่ได้ หากรู้ว่าปีนี้หนาวนานให้เลี่ยงไม่ปลูกผักช่วงดังกล่าว จากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่เสียหายอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะอำเภอปากท่อ ประมาณกว่า 800 ไร่ อยู่ระหว่างที่เกษตรกรกำลังไปแจ้งข้อมูลเทศบาล หลังจากนั้นกรณีประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจะมีเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบแปลงของเกษตรกรอีกครั้งว่ามีความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ก็จะจ่ายเงินเยียวยาไปตามสัดส่วน ส่วนของเทศบาลจะใช้ข้อกฎหมายพิเศษของกระทรวงมหาดไทย จะใช้คณะกรรมการพิจารณามีผู้นำยืนยันข้อมูลโดยใช้ดุลพินิจพิจารณาในการช่วยเหลืออีกครั้ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: