ราชบุรี ถั่วดาวอินคา เป็นพืชเถาเลื้อยเกาะไปตามเสาไม้ หรือตามรั้วบ้าน ผลมีรูปทรงแปลกตามีลักษณะ 5 แฉก คล้ายดวงดาวเป็นพืชสมุนไพรไทยอีกชนิด ที่ชาวบ้านหมู่ 2 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่กันเป็นกลุ่มประมาณ 8 หลังคาเรือน ท่ามกลางหุบเขาที่ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ เส้นทางยังเป็นถนนลูกรัง ด้วยสภาพอากาศที่ดี สามารถปลูกถั่วดาวอินคาได้ จึงใช้โอกาสนี้ปลูกเพื่อนำผลผลิตมาแปรรูปชงเป็นชาสมุนไพร เมล็ดยังรับประทานได้มีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งยังเป็นพืชสมุนไพรที่ได้สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ และเด็กนักเรียนในชุมชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มารับจ้างทุบเม็ดนำเปลือกดาวอินคาแยกออกจากกัน สามารถสร้างรายได้ ได้เป็นอย่างดี ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่หลายคนได้รับผลกระทบจากด้านอาชีพขาดรายได้
ถั่วดาวอินคา เป็นพืชใบเลี้ยงเดียว ใบอ่อน หรือ ยอดอ่อน มักจะนำมาประกอบอาหาร เพราะเนื้อใบยอดอ่อน มีความนุ่ม รสชาติมัน สามารถทำอาหารได้หลากหลายเมนู ยอดถั่วดาวอินคาเอาไปผัด หรือ จะทำแกงจืดยอดอ่อนได้ ส่วนใบแก่สามารถนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากแดดแห้งทำเป็นชาชงดื่มได้ เมล็ดถั่วดาวอินคา ยังสามารถนำมาคั่ว หรือ นึ่งด้วยความร้อนให้สุกก่อนรับประทานเป็นอาหารขบเคี้ยว เนื้อเมล็ดจะหอม กรอบ มีรสชาติมันอร่อยคล้ายกับเมล็ดถั่วทั่วไป อีกทั้งยังนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ ซอส ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว รวมถึงแปรรูปเป็นแป้งถั่วดาวอินคาสำหรับใช้ประกอบอาหาร และทำขนมหวานได้ด้วย
นางสาวภัทรวดี วงศ์ทวีทรัพย์ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99/2 หมู่ 2 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง เปิดเผยว่า ที่นี่จะรวมกลุ่มให้ชาวบ้านปลูกบ้านละ 10 – 20 ต้น เมื่อได้ผลผลิตจึงรับซื้อผลแห้งชั่งเป็นกิโลกรัม จากนั้นก็จะจ้างผู้สูงวัยที่อยู่กับบ้าน และน้อง ๆ ที่ว่างพักจากการเรียนหนังสือ ยิ่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โรงเรียนจะเปิด 1 วัน หยุด 1 วัน ก็จะให้มารับถั่วดาวอินคาไปรับจ้างทุบเอาเม็ดออกที่บ้าน เพื่อให้ทุกคนในหมู่บ้านมีรายได้ จ้างทุบเปลือกออกให้กิโลกรัมละ 10 บาท ส่วนเม็ดที่อยู่ในเปลือกอีกทีจะให้กิโลละ 15 บาท อย่างนำไป 40 กิโลกรัม จะได้ค่าจ้างทุบ 400 บาท ทุบเปลือกนอกก็จะได้เม็ดในสีน้ำตาล จากนั้นทุบเม็ดสีน้ำตาล ก็จะได้เม็ดในอีกชั้นเป็นสีขาว เมื่อได้เม็ดในสีขาวก็จะนำชั่งกิโล อย่างทุบได้ 40 กิโลกรัม ก็จะได้เงินค่าทุบประมาณ 700 บาท เด็ก ๆ ที่มารับจ้างก็ขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคน ทุบมากได้มาก ทุบน้อยก็จะได้เงินน้อย
จุดจำหน่ายส่วนใหญ่ขายทางออนไลน์ มีส่งตามร้านแหล่งท่องเที่ยว และร้านของฝาก ตอนนี้ได้ลูกค้าเยอะ เพราะเอาไปกินแล้วดี หลังจากไปตรวจร่างกาย ไขมัน ความดันลดลง ก็จะสั่งกินต่อเนื่อง ส่วนบรรจุภัณฑ์คิดเองทำเอง โดยจะใส่ซองกันชื้นให้เหมือนกับผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่ได้มาตรฐาน สำหรับผู้ที่สนใจอยากลองชิมสั่งได้ แต่ค่าส่งลูกค้าต้องเป็นคนออกเอง เป็นชาชงดาวอินคาจำหน่ายเป็นซองละ 50 บาท เม็ดถั่วบรรจุขวด และซอง ขาย 99 บาท โดยช่วงสถานการณ์โควิดระบาดก็ยังมีน้อง ๆ มารับจ้างช่วยกันทุบ ช่วยกันได้ในชุมชน อย่างชาวบ้านปลูกเองนำมาขายให้มีรายได้เป็นค่ากับข้าว บางคนทำงานประจำอยู่ ยังได้ขอนำถั่วดาวอินคาไปทุบช่วงหลังเลิกงานทำให้มีรายได้เพิ่มไปอีก
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับการปลูกง่าย ๆ เพราะถั่วดาวอินคา เป็นไม้เถาเลื้อย ปลูกตามรั้วบ้านก็ได้ ประมาณ 6 – 8 เดือน ก็จะออกดอกออกผลรอจนกว่าผลจะแก่และแห้งคาต้น จากนั้นเก็บไปตากแดดเมื่อแห้งสนิทดี จึงเริ่มเอาไปทุบ เอาเปลือกออกได้เม็ดในเอาไปตากอีกครั้ง จากนั้นก็จะเลือกเปลือกสวย ๆ บรรจุใส่ถุงผลิตภัณฑ์ หรือจะนำใบเตยแห้งใส่รวมกัน ก็จะทำให้มีรสชาติหอมชื่นใจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ถือเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งเด็กยังใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แม้จะอยู่ห่างไกลแนวชายแดน แต่ก็ยังสามารถทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับท้องถิ่นอื่น นำไปเป็นตัวอย่างการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน
สำหรับคนที่สนใจเข้าไปศึกษาวิธีการปลูก หรืออยากซื้อไปรับประทาน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่นางสาวภัทรวดี วงศ์ทวีทรัพย์ เบอร์ 065 – 5293659
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: