ราชบุรี ในวันนี้( 2มี.ค.65) นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยนายมานะ วัฒนากร โยธาธิการและผังเมืองจ.ราชบุรี นายอัศนี สุภานัย ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงราชบุรี นางสาวกุลวลี นพอมรบบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 ราชบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณใต้สะพานต่างระดับคูบัว ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างหมู่ 1 ต.คูบัว กับ หมู่ 3 ต.ดอนตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว ว่าบริเวณพื้นที่แห่งนี้มีการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ซึ่งจะมีจุดข้ามทางรถไฟ ชาวบ้านต้องการให้มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกในการปิดกั้นการเดินรถไฟ ตลอดเวลา เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งต้องการให้ขยายเส้นทางที่จะเข้าในตัวเมืองด้วย เนื่องจากในปัจจุบันนั้นเส้นทางแคบ และเมื่อมาถึงบริเวณจุดทางข้ามทางรถไฟ ก็จะเป็นคอขวดซึ่งจะยิ่งอันตรายมาก หากยังปล่อยไว้เช่นนี้ รวมทั้งขอให้เพิ่มขนาดท่อระบายน้ำเสีย ซึ่งชาวบ้านต้องการให้มีการก่อสร้างท่อให้คู่ขนานไปกับทางรถไฟรางคู่ หลังได้ทำการบำบัดน้ำเสียแล้วปล่อยลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาน้ำ ท่วมขังในพื้นที่ตำบลดอนตะโก เขตเทศบาลเมืองราชบุรี และตำบลเจดีย์หัก ในช่วงหน้าฝนได้เป็นอย่างดี ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนั้นจะต้องได้รับการยินยอมจากทางการรถไฟก่อน เนื่องจากจะต้องมีการปรับแก้แบบการก่อสร้าง ซึ่งนางสาวกุลวลี ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าไปปราศรัยในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และได้รับอนุมัติงบประมาณในการบำบัดน้ำเสียมาแล้วมากกว่า 200 ล้านบาท วันนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องลงมาดูพื้นที่จริงเพื่อจะได้จัดทำแผนในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน โดยมีนายมานิต นพอมรบดี อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาให้ข้อมูลเนื่องจากในช่วงที่เป็น ส.ส.ราชบุรี ได้เคยจัดทำแผนนี้มาแล้ว แต่หมดวาระในการเป็นส.ส.เสียก่อน
ด้านนางสาวกุลวลี นพอมรบดี ก็บอกว่า หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ก็ได้นำเรื่องเข้าสู่สภา จนได้รับงบประมาณในการขยายเส้นทางมาแล้ว แต่ทั้งนี้ก็จะต้องหารือกับทางการรถไฟ เนื่องจากเป็นพื้นที่จะทำการก่อสร้างรถไฟรางคู่ด้วย นอกจากนี้ยังได้นำเรื่องความเดือดร้อนในเรื่องของการระบายน้ำที่ช้า เนื่องจากติดขัดเรื่องท่อระบายน้ำที่เล็กและมีวัชพืชขึ้นจนเต็มทำให้การระบายน้ำทำได้ช้า แต่หากมีการเพิ่มขนาดของท่อระบายน้ำ และให้ไหลไปทางตรงโดยไม่ต้องอ้อมไปมา เชื่อว่าน่าจะทำให้น้ำนั้นสามารถระบายได้อย่างรวดเร็ว และลดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ของเขตเทศบาลเมืองและพื้นที่รอยต่อได้ วันนี้จึงต้องมาบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงานเพื่อให้การแก้ปัญหานั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากกว่า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: