ราชบุรี ในวันนี้( 24พ.ค.64) ที่โรงแรม ราชาบุระ ต.บ้านไร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง และเตรียมลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ในพื้นที่ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ทั้งนี้ก็เพื่อหารูปแบบและแนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำเชิงยุทธศาสตร์และบูรณาการจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการตลาด เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาจากภาคการเกษตร เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งต้องอาศัยฐานการผลิตจากภาคการเกษตร ประกอบกับการประกอบอาชีพของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ดังนั้น ทาง สทนช.จึงได้จัดทำโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองขึ้น เพื่อทบทวนวิเคราะห์การดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ศึกษาโครงการที่ผ่านมาเพื่อประกอบการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) พร้อมประเมินผลการดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ.2561-2564 และแผนปฏิบัติการ การบริหารทรัพยากรน้ำปี พ.ศ.2565-2570 รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของลุ่มน้ำแม่กลอง โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตรจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วน
โดยนายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม ว่าที่ผ่านมาลุ่มน้ำแม่กลองประสบกับภาวะภัยแล้งอยู่เสมอในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายนของทุกปีในส่วนของการจัดการน้ำอุปโภค-บริโภคในภาพรวมประชากรในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองมีน้ำใช้กว่าร้อยละ80แต่ยังคงมีปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ โดยมีหมู่บ้านที่ยังขาดแคลนระบบประปากระจายตัวอยู่ใน 8 ลุ่มน้ำสาขา มี 5 จังหวัด 12 อำเภอ 20 ตำบล 34 หมู่บ้าน ขณะเดียวกัน ยังพบปัญหาน้ำท่วมบริเวณจุดบรรจบลำน้ำสาขา เช่น ลำภาชีกับแม่น้ำแควน้อย ลำตะเพินกับแม่น้ำแควใหญ่ และบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำและชายฝั่งทะเลของลุ่มน้ำแม่กลอง รวมถึงปัญหาด้านคุณภาพน้ำบริเวณที่ราบริมแม่น้ำแม่กลองและปากแม่น้ำจากชุมชน สารเคมีจากการเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งในการบริหารจัดการกิจกรรมการใช้น้ำที่หลากหลายตามสภาพน้ำที่เป็นอยู่ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่น้ำจืดทั่วไป เพราะต้องคอยระวังไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามา ไม่เช่นนั้นแปลงผัก นาข้าว และบ่อปลาสลิดที่เลี้ยงไว้เสียหาย ขณะเดียวกัน ต้องระวังไม่ให้น้ำจืดระบายลงพื้นที่ท้ายน้ำรวดเร็วและมากมาย เพราะกระทบต่อสัตว์น้ำกร่อยที่เลี้ยงไว้อย่างกุ้งและปลา ถึงขั้นน็อกน้ำตายเช่นกัน การใช้ประตูน้ำบานหับเผย ทำให้น้ำจืดระดับ 30 – 50 เซนติเมตร ที่มักท่วมพื้นที่นาข้าวถูกระบายออกไปทางฝั่งน้ำเค็มแทน แล้วผสมกับน้ำเค็มเป็นน้ำกร่อย ในขณะที่น้ำทะเลหนุนขึ้นมาก็ไม่สามารถผ่านประตูระบายน้ำบานหับเผยเข้ามาในพื้นที่น้ำจืดได้ ผลที่ตามมาคือน้ำในคลองฝั่งน้ำจืดเกิดการไหลเวียน ไม่ท่วม และเน่าเสีย ส่วนฝั่งน้ำเค็มได้น้ำกร่อย ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ เท่ากับได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งลดทอนความขัดแย้งไปในตัวด้วย
นอกจากแนวทางการบริหารจัดการน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ผลการศึกษาครั้งนี้ได้เสนอแนะให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งทำการศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำใต้ดินให้ชัดเจน และศักยภาพการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำในรายละเอียดถึงระดับหมู่บ้าน ซึ่งผลการศึกษาจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้ดี เพื่อนำผลการศึกษาไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ข่าวน่าสนใจ:
- พรรคประชาชนเปิดตัว นายแพทย์จิรชาติ เรื่องวัชรินทร์ หรือ หมอมุดสัง ชิง นายก อบจ.สุราษฎร์ ฯ สมัครจันทร์นี้
- กาญจนบุรี พิธีตักบาตรพระ 10,000 รูป ฉลองตั้งเมือง 193 ปี พร้อมอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้มีพระคุณต่อประเทศชาติ
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- คู่แข่งนอกสายตานายก ก้อย “พนธ์ มรุชพงษ์สาธร” ขอวัดดีกรีว่าที่นายก อบจ.แปดริ้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: