ราชบุรี หลังจากไฟที่ลุกไหม้ภายในโกดังเก็บถังน้ำมันและสารระเหยต่างๆภายในโรงงานของโรงงาน แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด มาตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 16 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา และใช้เวลาในการดับนานกว่า 24 ชั่วโมง โดยสามารถดับไฟได้แล้วในช่วงประมาณ ตี 3 ของวันนี้(17 มิ.ย. 65) แต่ยังคงมีกลุ่มควันคุกกรุ่นอยู่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ต้องทำการฉีดน้ำเลี้ยงไว้ตลอดเพื่อไม่ให้เกิดประกายติดขึ้นมาอีก
และช่วงสายของวันนี้(17 มิ.ย. 65) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าตรวจสอบสถานการณ์ภายในโรงงาน พร้อมทั้งสั่งการให้เฝ้าระวังไม่ให้ไฟติดขึ้นมาอีก และได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าทำการตรวจสอบว่าภายในโกดังที่ถูกไฟไหม้นั้นมีสารอะไรบ้าง
โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ได้ร่วมกับทางจังหวัดราชบุรี ในนการเข้ามาดูสถานการณ์มาตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว ซึ่งสารที่บรรจุในถังตามที่ทางโรงงานได้ยื่นให้ดูนั้น มีทั้งทินเนอร์ มีน้ำมันปนเปื้อน มีสีเก่า มีไฟเบอร์ มีเศษผ้า รวมทั้งถังเปล่าด้วย รวมแล้วประมาณ 34,000 ถัง ตามบัญชีที่ทางโรงงานยื่นมาทั้งหมด แต่ในพื้นที่จริงนั้นมีอะไรมากกว่านี้หรือไม่ยังไม่ทราบ ก็จะต้องมาตรวจพิสูจน์หลังจากที่ไฟดับแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ได้จบแค่ไฟดับแต่จะต้องตรวจสอบว่ามีสารเคมีอะไรรั่วไหลหรือไม่ มีสารอะไรปนเปื้อนไปในพื้นที่สาธารณะข้างเคียงหรือไม่ ทั้งในเรื่องของอากาศ เรื่องของน้ำและเรื่องของดิน ซึ่งจะมีทีมเฝ้าระวังต่อจากนี้ไม่น้อยกว่า 3 วัน เพราะไม่อยากให้ใครเข้ามาแล้วได้รับสารพิษตรงนี้ ซึ่งใบอนุญาติประกอบกิจการโรงงานนั้นจำนวน 9 ใบ ได้ถูกเพิกถอนออกไปทั้งหมดแล้ว และมีคำสั่งจากศาลให้นำสารเหล่านี้ออกไปกำจัดให้ถูกวิธี ซึ่งทางโรงงานก็ได้มีการทำแผนว่าจะนำไปกำจัดที่ไหนบ้าง แต่เมื่อทำแผนเสร็จแล้ว 1 เดือนก็ยังไม่ได้มีการขนย้าย และมีเหตุไฟไหม้ขึ้นมาก่อน ซึ่งเหตุไฟไหม้นั้นเกิดขึ้นมาหลายครั้งตั้งแต่ต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงมีการตั้งข้อสงสัยและขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาทำการตรวจสอบเพิ่ม ส่วนเรื่องที่ดินนั้นได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าทางโรงงานไปปิดทับเส้นทางสาธารณะ ก็จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย จะต้องตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ว่าได้ เมาโดยชอบหรือไม่ ส่วนสารพิษที่ฟุ้งกระจายไปกับควันไฟทางกรมก็มีเครื่องมือในการตรวจวัดมีมากน้อยแค่ไหน แต่เบื้องต้นพบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยอยู่ โดยวางจุดตรวจตั้งแต่ 1 กิโลเมตร ไปจนถึง 8 กิโลเมตร และเข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนว่าหากได้กลิ่นขอให้สวมหน้ากากอนามัย ส่วนเจ้าหน้าที่ที่มาปฎิบัติงานก็ได้รับอันตรายจากถูกสารเคมีกัดด้วยเหมือนกัน ส่วนความผิดนั้นทางกรมจะใช้พรบ.สิ่งแวดล้อม ในการฟ้องเรียกค่าเสียหาย โดยรวบรวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เจ้าของโรงงานต้องรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องของทางแพ่ง อีกส่วนจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ประชาชนเสียโอกาสในการทำมาหากินเพราะเข้าพื้นที่ไม่ได้ และยังมีค่าเสียหายที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องดูว่ามีมลพิษอะไรที่ไหลลงสู่ดิน สู่ลำธาร หรือที่พัดปลิวไปกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะคำนวณเป็นค่าเสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องของพรบ.สิ่งแวดล้อม ยังมีเรื่องของกฎหมายครอบครองที่ดิน พรบ.ป่าไม้ พรบ.ครอบครองที่ดินสาธารณะประโยชน์ และพรบ.วัตถุอันตราย ส่วนสารเคมีที่เหลือในโรงอื่นๆภายในโรงงานทางผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้กำชับทางอุตสาหกรรมใช้มาตรการตามที่กรมโรงงานกำหนด ซึ่งมีการติดตามและกำกับดูแลอยู่แล้วซึ่งจะต้องเข้มงวดมากขึ้นโดยประสานกับทางท้องถิ่นว่าจะต้องมีการเฝ้าระวังให้มากขึ้นด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: