ราชบุรี ในวันนี้( 18 ก.ค. 65 ) นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อม นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอานันท์ ฟังสังข์ อุตสาหกรรมจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมาตรวจความเรียบร้อยและดูขั้นตอนการขนย้ายถังสารเคมีของโรงงานแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล อยู่ที่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรีไปกำจัด หลังโรงงานดังกล่าวเกิดไฟไหม้เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา การขนย้ายในครั้งนี้จะรวมไปถึงดิน น้ำ วัสดุที่ตกค้างในบริเวณดังกล่าวทั้งหมด โดยมีชาวบ้านในตำบลน้ำพุ อ.มือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานดังกล่าว มาติดตามการขนย้ายในครั้งนี้ด้วย
จากการสอบถามนายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่วันเกิดเหตุไฟไหม้มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาระงับเหตุทันที หลังจากนั้นก็มีการประชุมคณะทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และมีความกังวลว่าอาจมีสารเคมีปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำ จังหวัดจึงได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยวันนี้จะเริ่มขนย้ายถังสารเคมีไปกำจัดโดยมีบริษัทเอกชนรับหน้าที่ดำเนินการในครั้งนี้ วันแรกจะทำการขนย้ายไปประมาณประมาณ 100 ตัน มีรถขนถ่ายพ่วง 4 คัน ซึ่งแต่ละคันสามารถบรรจุได้ 25 ตัน คาดว่าจะใช้เวลาขนย้ายให้แล้วเสร็จประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ รถบรรทุกที่ขนย้ายมีการติดตั้งระบบ GPS ติดตามตัวรถทุกคัน ซึ่งจะทำให้เราทราบเส้นทางการเดินทางว่าไปถึงโรงงานปลายทางที่รับกำจัดอย่างถูกต้องหรือไม่
ด้านนายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่าการขนย้ายถังสารเคมีไปกำจัดในครั้งนี้ มีบริษัทเอกชน 2 แห่ง รับไปดำเนินการคือที่จังหวัดสระบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำหรับโรงงานแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล แห่งนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการ 9 ฉบับ แต่ช่วง 3 ปี ที่ผ่านมีคำสั่งให้หยุดกิจการทั้งหมดแล้ว เนื่องจากใบอนุญาตหมดอายุ และได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ส่วนวัสดุ อุปกรณ์ที่เห็นอยู่นี้เป็นของที่ตกค้างไม่ใช่ของที่รับมากำจัดใหม่ ก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้นั้นทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกคำสั่งเมื่อเดือนมกราคม 2565 ให้โรงงานแห่งนี้กำจัดของที่เหลืออยู่ทั้งหมดแต่มาเกิดเหตุเพลิงไหม้ก่อน
สำหรับเหตุเพลิงไหม้โรงงานแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เกิดขึ้นเมื่อกลางดึกของวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเพลิงลุกไหม้อาคารในพื้นที่ จำนวน 3 อาคาร ได้แก่ อาคารโรงผลิตสี อาคารโรงซ่อมและล้างถังด้วยตัวทำละลาย และอาคารโกดัง ทำโครงสร้างอาคารเสียหายทั้งหมด และไฟยังได้ลุกไหม้ถังโลหะขนาด 200 ลิตร บรรจุกากของเสียประมาณ 6,000 ถัง จนทำให้ถังเกิดระเบิดจำนวนมากและมีสารเคมีรั่วไหลออกมา นอกจากความเสียหายต่ออาคารแล้ว ยังมีแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีที่ต้องนำไปทำลาย รวมถึงตะกอนดินภายในโรงงานที่ต้องนำไปกำจัดด้วย เพราะมีโอกาสปนเปื้อนสูง เพราะหากดิน หรือ น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี เข้าในแหล่งชุมชน อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ได้
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: