ราชบุรี ในวันนี้ ( 29 พ.ค. 67 ) นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้เข้าติดตามการผลิตคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ โรงงานรัตนโกสินทร์เซรามิกค์ 4 ใน ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ผลิตคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ในครั้งนี้ โดยมีนายสุขชาติ โฆษะบดี เจ้าของโรงงานรัตนโกสินทร์เซรามิกค์ 4 นำเยี่ยมชมและสรุปขั้นตอนการผลิต ซึ่งการผลิตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และจะเตรียมส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทยในต้นเดือนมิถุนายนนี้
จากที่รัฐบาลได้เตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งในห้วงต้นเดือนกรกฏาคมนี้กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญ คือ คนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ และนับเป็นสิ่งมงคลอันสูงสุด ที่โรงงานรัตนโกสินทร์เซรามิกค์ 4 ในต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี ได้รับมอบหมายให้ผลิตคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ในครั้งนี้ และยังเคยผ่านการผลิตคนโทน้ำในพระราชพิธีสำคัญๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 2 ครั้ง ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งที่เจ้าของ และพนักงาน ของโรงงานรัตนโกสินทร์เซรามิกค์ 4 ปลาบปลื้มหาที่สุดมิได้
ด้านนางสาวนพรัตน์ โฆษะบดี ทายาทโรงงานรัตนโกสินทร์เซรามิกค์ 4 ให้ข้อมูล่วา โรงงานนี้เปิดกิจการมาแล้ว 30 ปี โดยมีคุณพ่อ นายสุขชาติ โฆษะบดี เป็นเจ้าของโรงงานรัตนโกสินทร์เซรามิกค์ 4 และดูแลการผลิตทุกขั้นตอน และนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูงที่กระทรวงมหาดไทยไว้วางใจให้ทางโรงงานผลิตคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ส่วนรูปแบบของคนโทน้ำในครั้งนี้จะคล้ายกับ“คนโทน้ำอภิเษก” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี พ.ศ. 2562 แต่ขนาดเล็กลง โดยจะผลิตทั้งหมด 97 ชิ้น และจะส่งมอบให้กับกระทรวงมหาดไทยประมาณต้นเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากนี้นางสาวนพรัตน์ โฆษะบดี ได้ให้ข้อมูลถึงการผลิตคนโทในครั้งนี้อีกว่า จะต้องทำด้วยความพิถีพิถันและประณีตทุกขั้นตอน เริ่มจากการเตรียมดินที่เป็นดินลักษณะพิเศษคือเมื่อเผาแล้วสีจะออกขาวนวล ขั้นตอนต่อมาคือการหยอดน้ำดิน หรือ เทน้ำดินลงแบบคนโท ทิ้งไว้ประมาณ 40-50 นาที แล้วแกะออกจากแบบทิ้งให้แห้ง 4-5 ชั่วโมง จากนั้นนำมาแต่งตะเข็บคนโทให้เรียบเนียนแล้วปล่อยให้แห้งประมาณ 1-2 วัน จากนั้นนำไปเผารอบที่ 1 ด้วยอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส 8 ชั่วโมง ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำมาชุบน้ำยาเคลือบ ก่อนเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิ 1,165องศาเซลเซียส ใช้เวลา 8 ชั่วโมง ทิ้งไว้ให้เย็นตัวแล้วจึงถึงขั้นตอนการการประดับตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28กรกฎาคม 2567 พร้อมเครื่องหมายราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และตรากระทรวงมหาดไทย รวมทั้งขั้นตอนลงสีลายนูนต่ำของคนโท เสร็จแล้วจึงนำไปเผาเป็นครั้งที่ 3 ด้วยอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 4 ชั่วโมง จึงจะได้คนโทเซรามิก ที่เงางาม ด้วยลวดลายสีทอง คู่กับตราสัญลักษณ์ฯ พร้อมนำไปประกอบพิธีอันมงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: