X

กกพ.สร้างเครือข่ายให้ความรู้ กับผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้พลังงาน

ราชบุรี       นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา  กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นประธานจัดประชุมกิจกรรมสร้างเครือข่ายงานประชาสัมพันธ์ขององค์กร โดยมีผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ  กกพ. พร้อมทั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) และสื่อมวลชนจากหลายแขนงเข้าร่วม ที่ห้องประชุมโรงแรมวิศมา  อ.เมือง จ.ราชบุรี  เนื่องจากกิจการพลังงานมีความสำคัญต่อโครงสร้างด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ รัฐบาลจึงปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานแยกงานนโยบาย และงานกำกับดูแลออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อให้การกำกับกิจการพลังงานเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน โดยออกพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550  ( พระราชบัญญัติฯ ) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม  2550  ซึ่งมีพระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชุดแรก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการพลังงาน ซึ่งประกอบด้วย การประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการไฟฟ้าให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติฯ ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐและจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.) ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของ กกพ. เพื่อกำกับดูแลกิจการพลังงานของประเทศ ให้มีความมั่นคง สามารถให้บริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอและทั่วถึง ตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม สะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้อย่างเข้มแข็ง กำกับดูแลการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติและกิจการไฟฟ้าให้มีมาตรฐานวิศวกรรมปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากการให้บริการของผู้ประกอบกิจการพลังงาน และการเรียกเก็บอัตราค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม คุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการวางระบบโครงข่ายพลังงานและการจ่ายค่าทดแทนที่ดิน และทรัพย์สินให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับความเป็นธรรม และสามารถวางเขตระบบโครงข่ายพลังงาน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ตลอดจนการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้มีการจ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนด

              นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการพูดถึง บทบาทและภารกิจ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.  คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต  ขั้นตอนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน  เรื่องกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งเรื่องของผู้ใช้ไฟที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกตัดมิเตอร์ โดยเฉพาพบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ   หรือมิเตอร์ไฟฟ้าเสียทำให้ผู้ใช้ไฟต้องเสียเงินจำนวนมาก โดยที่ไม่ได้ใช้ไฟ   การติดตั้งหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าสูงกว่า 5 เมตร  ทำให้ไม่สามารถมองเห็นเลขมิเตอร์  อีกทั้งกรณีการ ร้องเรียนชาวบ้านพื้นที่ อ.ปากท่อ ไม่มีไฟฟ้าใช้นานกว่า 9 ปี   ซึ่งทางหน่วยงาน ได้เก็บข้อมูลรายละเอียดส่วนที่เกี่ยวข้อง

            ด้านนายวรวิทย์  ศรีอนันต์รักษา  กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ทาง กกพ. และสำนักงานฯได้จัดกิจกรรมสัมมนาสื่อมวลชนกับคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข.  เพื่อจะร่วมมือกันดูแลสิทธิ หรือ คุณภาพบริการด้านไฟฟ้า ทั้งเรื่องไฟตก ไฟดับ  เรื่องคิดค่าไฟฟ้าที่ผิดพลาด แพงจนเกินไป  รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ สายสื่อสาร หรือ ไฟรั่ว ในพื้นที่สาธารณะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต  รวมถึงการตัดไฟกับบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง และทำให้เกิดการเสียชีวิต  เช่น เหตุเกิดที่ จ.นครพนม  แต่ก่อนหน้านั้นได้ทำมาแล้วที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์และที่ราชบุรี ให้เอา อสม.กับการไฟฟ้า มาตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูล เพราะ อสม.จะรู้ว่าบ้านไหนมีผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่บ้าง  ส่วนที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์มีผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 100 คน  ยิ่งสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุเรื่องนี้มีความสำคัญมาก  ตัดไฟปุ๊บก็ตายเลย จะบอกว่าให้ไปแจ้ง บางครั้งประชาชนไม่รู้ จึงเป็นความร่วมมือซึ่ง คพข.ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี  ซึ่งเรามีหน้าที่ที่จะต้องดูแลทุกคน สื่อสารให้คนเข้าใจ เข้าถึงอำนาจที่เขามี ถึงสิทธิ์ที่เขามีด้วย  สิ่งเหล่านี้ประชาชนจะไม่ค่อยรู้ พอเรื่องไฟฟ้ามาอยู่ในภูมิภาคแล้วประชาชนจะไม่รู้เลยว่ามีสิทธิ์อะไรบ้าง มีกฎหมายมากที่มีสิทธิ์เยอะแยะ วันนี้จะมาบอกและให้สื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ ช่วยกระจายข่าวทางออนไลน์ ช่องทางต่าง ๆ  ประชาชนเดือดร้อนให้มาบอกได้ พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาให้ทุกเรื่อง

                  ส่วนการร้องเรียน ให้ไปที่เขต มี 13 เขต ทั่วประเทศ  หรือ ให้ประชาชนที่เดือดร้อนโทรศัพท์ติดต่อ 1204  โดยให้แจ้งเรื่องไปในเวลาราชการจะมีเจ้าหน้าที่รับสาย หรือ ใช้แอพลิเคชั่นไลน์ @ ERCvoice     หรือ แชท แชะ แชร์  กรณีเกิดสายไฟระโยงระยาง ไฟดูด หม้อแปลงจะระเบิด ให้ถ่ายรูปพร้อมเขียนข้อความระบุแล้วส่งเข้ามา เพื่อให้การทำงานมีความรวดเร็ว โดยจะไปกำกับการไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง  เพราะเราคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นสำคัญ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สายชล โอชะขจร

สายชล โอชะขจร

ผู้สื่อข่าวราชบุรี