ราชบุรี ในวันนี้( 21 พ.ค. 62 ) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าชาวบ้านในหมู่ 6 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กำลังได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ทำให้ต้องปล่อยให้พืชผักที่ปลูกไว้ยืนต้นเพราะไม่มีน้ำไปรด จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบว่าสภาพพื้นที่ใน ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตรปลูกพืชผัก ผลไม้ ช่วงหน้าฝนก็จะมีน้ำกักเก็บไว้ในสระ แต่ช่วงหน้าแล้งน้ำที่เก็บไว้จะถูกใช้ไปกับทำการเกษตรจนหมด อีกทั้งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่อับฝน มีเมฆฝนลอยมาก็จะไปตกที่อื่น จนเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงมานานหลายเดือนแล้ว ทำให้เกษตรกรปลูกผัก ผลไม้ ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ
จากการสอบถามนางสาวฐิติมา แก้วคำ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 57 หมู่ 6 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ ซึ่งมีอาชีพปลูกมะเขือยาว และข้าวโพด ได้ขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้อยู่บริเวณหลังบ้าน หวังใช้เป็นแหล่งน้ำที่ขุดเก็บกักไว้รดพืชผักที่ปลูกส่งขายตลาดสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวเหมือนทุกปีที่ผ่านมา แต่ขณะนี้น้ำในสระมีสภาพแห้งขอด มีดินโคลนผสม จากดินลูกรังปนไปกับน้ำด้วย ไม่สามารถดูดขึ้นมารดพืชผักได้ ขณะที่ข้าวโพดที่กำลังออกฟัก ลงทุนปลูกในพื้นที่เกือบ 1 ไร่ มีค่าน้ำมันใส่รถไถ ค่าเมล็ด ค่าปุ๋ย ค่ายา นับหมื่นบาท ต้องยอมปล่อยให้ยืนต้นเหี่ยวตายลงกับสภาพพื้นดินที่ ที่แห้งแล้งเพราะน้ำไม่พอที่จะรด และตัดสินใจเอาน้ำที่มีในก้นสระไปรดต้นมะเขือยาวที่ปลูกไว้ และกำลังออกดอกเริ่มติดลูกได้เจริญเติบโตแทนข้าวโพด เพราะมะเขือมีราคาสูงกว่าข้าวโพด และตอนนี้น้ำก็ใกล้จะหมดสระไม่เพียงพอต่อการปลูกพืชอย่างอื่น เพราะน้ำไม่พอจึงตัดสินใจเลือกให้ต้นข้าวโพดยืนต้นตายไปก่อน เหลือแต่ต้นมะเขือยาวไว้เพราะกำลังจะติดผล ตอนนี้ราคาของมะเขือยาวขายกันอยู่กิโลกรัมละ 35-40 บาท ช่วงหน้าแล้งนี้ผักจะมีราคาแพงเริ่มขาดตลาดจึงอยากจะเอาไว้ทั้งหมด แต่ก็จนใจเพราะน้ำไม่พอใช้ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี
ถือเป็นปีแรกของความแห้งแล้งมากที่สุดถึงขนาดพืชผักขาดน้ำมาก เท่าที่เคยปลูกผักมา ส่วนเพื่อนเกษตรกรใกล้เคียงที่ปลูกผักก็พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหากันทุกวิถีทาง บางคนใช้น้ำขี้หมูบำบัดแบบเจือจางจากฟาร์มหมูใกล้เคียงนำไปใช้รดพืชผักแทนน้ำธรรมชาติ จะรอน้ำฝนที่ตกลงมาก็ยากเต็มที เพราะฝนแล้งมานาน มีแต่กลุ่มเมฆก่อตัวเป็นกลุ่มก้อน แต่พอลมพัดผ่านก็หายไปไม่ตกในพื้นที่นานหลายเดือนแล้ว อีกทั้งพื้นที่ยังอยู่นอกเขตชลประทานอีกด้วย ซึ่งอนาคตหากมีโครงการชลประทานเข้ามาผ่านในพื้นที่ตำบลทุ่งหลวง เหมือนที่ตำบลใกล้เคียงคงจะดีมาก เพราะจะให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสใช้น้ำอุปโภค บริโภค พืชผักที่ปลูกคงจะไม่ประสบปัญหาน้ำแล้งเหมือนเช่นปีนี้อีก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: