ราชบุรี ในวันนี้( 12 ก.ค. 62) นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ สมาชิกวุฒิสภา พลตำรวจตรี ปรัชญ์ชัย ใจชาญสุขกิจ สมาชิกวุฒิสภา นายพินิจ เจริญเร็ว เกษตรจังหวัดร่วมเปิดศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลาดเกษตรกร จ.ราชบุรี ณ ศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลาดเกษตรกร อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และมีการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร การขับเคลื่อนจังหวัดราชบุรีเมืองอัจฉริยะ Smart City ด้วย
สำหรับการเปิดศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลาดเกษตรกรครั้งนี้ สืบเนื่องจากพลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมจ.ราชบุรี มีนโยบายให้ทุกจังหวัดดำเนินการจัดตั้งตลาดเกษตรกร เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรของเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เป็นเกษตรกรตัวจริง ต้องมาจำหน่ายสินค้าด้วยตัวเอง ผู้ผลิตพบผู้บริโภคโดยตรง ทำให้เกษตรกรทราบว่าจะผลิตสินค้าอย่างไรที่ผู้บริโภคต้องการ โดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดก่อสร้างตลาดเกษตรกรจังหวัดขึ้น บริเวณหน้าสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรนำสินค้ามาขายทุกวันอังคารและวันศุกร์ตั้งแต่เช้าถึงช่วงเที่ยง ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน รวมเวลา 5 ปี โดยปี 2561 สำนักงานเกษตรจังหวัดได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 15 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่เลือกซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัยของผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิต มีช่องทางการจำหน่ายที่ชัดเจน เป็นการรวมกลุ่มการบริหารจัดการในรูปของคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้ดังกล่าว
ช่วงที่ผ่านมามีผู้บริโภคให้การตอบรับดี มีผู้บริโภคมาเลือกซื้อสินค้าประมาณสัปดาห์ละ 800-1,000 คน ยอดจำหน่ายประมาณ 225,000 บาท ต่อสัปดาห์ รวมระยะเวลา 5 ปี มียอดจำหน่ายรวมประมาณ 40 ล้านบาท มีร้านค้ามาร่วมจำหน่ายมากกว่า 30 ร้าน แบ่งโซนร้านค้าออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซน A มีสินค้าประเภทประมงและแปรรูป โซน B สินค้าพืชผักผลไม้ ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ โซน C สินค้าปศุสัตว์และแปรรูป และโซนC เป็นสินค้าแปรรูปอื่น รวม 80 ร้าน ซึ่งเป็นนโนบายที่พัฒนาการเกษตรกร มุ่งเน้น 4 ประเด็นหลัก เรื่องลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพและผลผลิตต่อหน่วย การบริหารจัดการ และการวางแผนการผลิตและเพิ่มช่องทางการตลาด อีกทั้งเป็นการเชื่อมโยงผลผลิตที่มีคุณภาพและได้รับการรองมาตรฐานจากกิจกรรมแปลงใหญ่เข้าสู่ตลาดเกษตรกรด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: