ราชบุรี ในวันนี้( 17 ก.ย.62) ที่ห้องประชุมชั้น 2 องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เขต 4 ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดราชบุรี ประกอบด้วย สำนักงานเกษตร ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย, นายอำเภอบ้านโป่ง, อุตุนิยมวิทยา, กรมฝนหลวง, สำนักงานชลประทานที่ 13 กาญจนบุรี และ อบต.เขาขลุง ได้ร่วมประชุมแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งเนื่องจากฝนทิ้งช่วงนาน โดยมีประชาชนในพื้นที่ตำบลเขาขลุง ตั้งแต่หมู่ที่ 8 – 17 ที่ได้รับความเดือดร้อนจากฝนทิ้งช่วงทำให้ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก จนทำให้พืชผลทางเกษตรได้รับความเสียหายรวมกว่า 1 หมื่นไร่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
โดยหลังที่มีการประชุมแล้วเสร็จ นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เขต 4 ราชบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดราชบุรี ได้ลงพื้นที่แปลงนาของชาวบ้านหมู่ที่ 8 บ้านหนองขาม ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านว่ากำลังประสบปัญหาภัยแล้ง จนพืชผลทางการเกษตรใกล้จะยืนต้นตาย
ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจ ได้มีตัวแทนชาวบ้านกว่า 20 คน เข้ามาให้ข้อมูลความเดือดร้อน โดยเปิดเผยว่า พื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหายประกอบด้วย นาข้าว และไร่อ้อย ซึ่งในบริเวณจุดที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง จะมีลักษณะเป็นพื้นที่ดอน อยู่นอกเขตชลประทาน ตามปกติ ชาวบ้านสามารถทำนาได้เพียงช่วงนาปี หรือเดือนกรกฎาคม ที่จะเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว แต่ทว่าในปีนี้ฝนได้ทิ้งช่วงมาตั้งแต่ต้นฤดู จึงทำให้ต้นกล้าในแปลงนามีสภาพเหลืองแคระแกรนกำลังยืนต้นตาย ดินแห้งแตกระแหง สระน้ำที่ขุดเอาไว้ก็เหลือน้ำเพียงก้นสระไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ซึ่งคาดว่าใน 1 สัปดาห์นี้ หากฝนยังไม่ตก หรือไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยง ก็จะทำให้นาล่มทั้งหมดอย่างแน่นอน ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกัน เพื่อร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำการบินสร้างฝนหลวง หวังแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนในระยะยาวอยากให้สนับสนุนทำระบบชลประทาน
ด้านนายอัครเดช ส.ส.ราชบุรี เขต 4 ก็บอกว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านจึงได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนและความต้องการ จึงได้ประสานหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรจังหวัด ป้องกันภัยจังหวัด และอุตุนิยมวิทยา ตลอดจนผู้นำท้องถิ่น เข้ามาสำรวจความเสียหายและก็หามาตรการในการแก้ไขให้พี่น้องประชาชนต่อไป
ส่วนในการแก้ไขปัญหา อันดับแรกคือเรื่องของการประกันรายได้ ซึ่งจะให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไปขึ้นทะเบียนกับทางเกษตรอำเภอ ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ประกันรายได้ ถึงแม้พืชผลจะได้รับความเสียหาย แต่ก็ยังได้เงินประกันส่วนต่างที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล สองคือท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ส่งการกรมฝนหลวงได้ทำฝนหลวงเพิ่มเติ่ม ซึ่งคิดว่าจะทำให้ได้รับปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น จากการที่ผู้อำนวยการอุตุนิยมวิทยารายงานให้พี่น้องเกษตรกรได้รับทราบ ส่วนที่สามในระยะยาวได้หารือกับทางชลประทานจังหวัดได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: