X

เริ่มแล้วฤดูการทำนาข้าวริมทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง

เริ่มแล้วฤดูการทำนาข้าวริมทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง โดยการทำนาข้าวในทะเลถือเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย และหนึ่งปีจะทำได้เพียงครั้งเดียว ที่สำคัญไม่ต้องใส่ปุ๋ยเนื่องจากมีแร่ธาตุอาหารที่สมบรูณ์ให้กับต้นข้าวเจริญเติบโตงอกงามและได้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์เช่นกัน

จังหวัดพัทลุง (13 มิถุนายน 2565) บริเวณแปลงนาริมเล หลังโรงเรียนวัดปากประ หมูที่ 8 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ริมทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง จัดกิจกรรมลงแขกดำนา ทำนาริมทะเล เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาทำนาริมทะเลเพื่อการท่องเที่ยว ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง โดยนำนักเรียนจากโรงเรียนวีรนาถศึกษามูลนิธิและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยได้เริ่มหว่านข้าวมาตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ต้นกล้าโตเจริญงอกงาม พร้อมปักดำจึงได้ร่วมกันลงแขกปักดำต้นข้าว ทำนาริมทะเลกันในวันนี้ซึ่งถือว่าเป็นวันแรก “ของการเริ่มฤดูกาลทำนาข้าวริมทะเลสาบ ในปีนี้” และการนำนักเรียนเรียนรู้ประสบการณ์จริง จะได้ถึงภูมิปัญญาทำนาริมทะเล จะช่วยสร้างจิตสำนึกรักษ์ถิ่น พร้อมเป็นการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศริมทะเลสาบสงขลาในการทำนาริมทะเลที่เป็นเอกลักษณะเฉพาะถิ่นที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ และเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนทำนาริมทะเลรวมทั้งเป็นการอนุรักษ์สิ่งดีงามที่ทรงคุณค่าสู่คนรุ่นหลังอย่างภาคภูมิและยั่งยืน

สำหรับวิถีทำนาในทะเลสาบหนึ่งเดียวของประเทศไทย โดยชาวประมงริมทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง ส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือการออกเรือหาปลา เนื่องจาก บ้านเรือนตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา คิดค้นหาวิธีการเพาะปลูกพืชในทะเลสาบ หรือริมฝั่งริมทะเลสาบ เพื่อให้มีผลผลิตเลี้ยงครอบครัว มาตั้งแต่บรรพบุรุษของพวกเขา คิดค้นการทำนาข้าวในทะเลสาบโดยใช้พื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบที่ทอดยาวตามแนวชายฝั่งเกือบ 10 กิโลเมตร มาทำการเพาะปลูกโดยแต่ละปีจะทำนาข้าวลักษณะนี้ ได้เพียงครั้งเดียวตั้งแต่ช่วงเริ่มปักดำต้นเดือนมิถุนายน และเก็บเกี่ยวปลายๆเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ท้องทะเลสาบบริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจึงได้ทำนาข้าวในทะเลสาบตามแนวชายฝั่งประมาณ 10 กิโลเมตร แต่ละแปลงจะทำนาจากชายฝั่งลงไปในทะเลประมาณเกือบ 40 เมตร

เหตุผลที่เลือกทำนาในช่วงเวลานี้ เป็นเพราะน้ำในทะเลสาบจะเป็นน้ำกร่อย และเป็นช่วงน้ำลงมากที่สุด หากเกินช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่ได้ผลผลิต เพราะน้ำทะเลจะหนุนสูงท่วมต้นข้าวเสียหาย สำหรับเพาะปลูกข้าวที่นี่ ต้องหาพันธุ์ข้าวที่ลำต้นแข็งแรง มีรากลึก และต้นข้าวเมื่อเจริญเติบโตแล้วต้องมีความสูง และสามารถต้านทานกับสภาพแรงลมและคลื่นขนาดเล็กที่ซัดเข้าหาฝั่งได้ ดังนั้นชาวบ้านจึงนิยมใช้พันธุ์ข้าว กข.55 และพันธุ์ข้าวหอมราชินี ที่สำคัญไม่ต้องใส่ปุ๋ยเนื่องจากมีแร่ธาตุอาหารที่สมบูรณ์ให้กับต้นข้าวเจริญเติบโตงอกงามและได้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์เช่นกัน
——————————————————
ณรงค์ศักดิ์ บุญน้อย ผู้สื่อข่าวจังหวัดพัทลุง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน