X

บ่อน้ำโบราณที่ไม่เคยเหือดแห้งในวัดทะเลน้อย จ.พัทลุง เป็นบ่อน้ำลี้ลับจริงหรือ-77ข่าวเด็ด

บ่อน้ำโบราณที่วัดทะเลน้อย จ.พัทลุง ตั้งอยู่ด้านหลังของอุโบสถโบราณภายในวัดทะเลน้อย แต่เดิมเป็น บ่อน้ำก่ออิฐโบราณ ปากบ่อมีความสูงจากพื้นดินประมาณ 2 ฟุต หากเณรน้อยตัวเล็กๆ นั่งที่พื้นข้างปากบ่อ ขอบบ่อจะอยู่ระดับคอของเณรพอดี สมัยก่อนเมื่อพระจะฉันข้าว พระและเณรจะใช้กาต้มน้ำจ้วงตักน้ำไปฉันที่โรงฉันได้เลยเพราะระดับน้ำในบ่ออยู่ในระยะที่จ้วงถึงได้พอดี ส่วนน้ำใช้พระก็จะใช้ต้อหมาก ต้อพร้าวตักน้ำใส่ตีบ (ปี๊บ) ที่เอาแท่งไม้มาตอกตะปูทำหูหิ้วแล้วใช้คานหาบหาบน้ำหรือหิ้วไปใส่ตุ่มใช้อาบในห้องน้ำและไว้ใช้ในกุฏิกัน รวมถึงชาวบ้านที่มาตักน้ำไปใช้ที่บ้านด้วย


บ่อน้ำนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง แต่ถือเป็นมรดกของบรรพบุรุษซึ่งเราต้องรักษา เป็นบ่อน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้สร้างต้องเป็นผู้มีภูมิปัญญาชั้นเลิศ เพราะท่านเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ในยุคที่ไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เลย ผู้สร้างบ่อน้ำนี้ท่านรู้ได้อย่างไรว่าตาน้ำอยู่ตรงจุดนี้ และ เป็นจุดที่น้ำไม่เคยแห้งเหือดเลย พวกเราต้องขอขอบพระคุณท่านผู้สร้างบ่อน้ำนี้เป็นอย่างสูงที่สร้างคุณประโยชน์เกี่ยวกับน้ำอุปโภคบริโภคให้พวกเราได้ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

บ่อน้ำนี้ไม่มีใครทราบว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด แต่ลองนึกภาพย้อนไปในสมัยโบราณก่อนที่จะใช้น้ำบ่อกัน คนสมัยนั้นอาจจะใช้น้ำจากสระ พัง คลอง หรือบ่อดินเล็กๆ ที่ขุดใช้เองกัน ส่วนบ่อน้ำแบบนี้ไม่รู้ว่าเริ่มสร้างมาใช้กันตั้งแต่สมัยใด รู้แต่ว่าเก่าแก่โบราณ แต่หากจะลองเชื่อมโยงเทียบเคียงกับประวัติการใช้บ่อน้ำที่จังหวัดสงขลา เมืองที่มีฉายาว่า “สงขลามีบ่อ” ดู ก็จะพบว่ามีหลักฐานบอกไว้ว่า คนสงขลาเริ่มใช้บ่อน้ำลักษณะคล้ายกันนี้มาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 3 (ครองราชย์ พ.ศ. 2367 – 2394) เริ่มจากคนจีนเข้ามาอยู่พร้อมนำภูมิปัญญาการจัดการน้ำมาด้วย พวกเขานิยมขุดบ่อน้ำแบบนี้ไว้ที่บ้าน เพื่อเป็นสิริมงคล และด้วยเหตุผลที่สงขลาอยู่ติดอ่าวไทยและทะเลสาบจึงต้องขุดบ่อหาแหล่งน้ำจืดไว้ใช้สอยกันเกือบทุกครัวเรือน และด้วยเหตุที่บ่อน้ำมีจำนวนมากนี้เองจึงทำให้ชื่อตำบลหมู่บ้านในสงขลามักใช้คำว่า “บ่อ” นำหน้า เช่น บ่อยาง บ่อดาน บ่อแดง บ่อโด บ่อใหม่ บ่อตรุ บ่อโตระ บ่อหิน บ่อทราย บ่อสระ บ่อท่อ บ่อทรัพย์ บ่อพลับ บ่อหว้า บ่อป่า บ่อเก๋ง และอีกสารพัดบ่อนั้นเอง และวีถีเรื่องการใช้บ่อน้ำนี้ยังได้แผ่ขยายออกไปยังละแวกใกล้เคียงจนมีการใช้บ่อน้ำกันอย่างแพร่หลาย รูปร่างหน้าตาของบ่อน้ำก็ถูกปรับเปลี่ยนไปตามความสมัยใหม่ของกาลเวลา นี้เป็นเพียงหลักฐานส่วนหนึ่งที่พอหาได้ แต่หลักฐานดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการใช้บ่อน้ำที่ #เมืองพัทลุงมีควนและดอน ( นครมีท่า ตรังมีนา สงขลามีบ่อ) หรือไม่ หรือบ่อน้ำนี้จะมีมาก่อนหน้านี้แล้ว นั้นก็ขอให้ท่านไปสันนิษฐานกันเอาเองก็แล้วกัน หรือหากใครพอมีหลักฐานเพิ่มเติมก็ขอให้มาเล่าสู่กันฟังด้วย
ช่วงปรับปรุงบ่อน้ำครั้งใหญ่

กลับมาที่บ่อน้ำของวัดทะเลน้อยกันต่อ ชาวชุมชนทะเลน้อยมีความผูกพันกับบ่อน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นศูนย์กลางของชุมชน ที่ชาวบ้านมักจะมาพบปะพูดคุยกันขณะมาตักน้ำจืดใสสะอาดด้วย หมาน้ำ ใส่ตีบ (ปี๊บ) ถั่ง(ถัง) หม้อเขียวหูหิ้ว ลอน (แกลลอน) จากนั้นทั้งหาบ ทั้งหิ้ว ทั้งใส่รถรุนไปดื่ม กิน ใช้กันที่บ้าน บางคนก็มาตักน้ำด้วยตนเอง บางคนก็ซื้อน้ำจากคนที่มาตักน้ำจากบ่อแต่เช้ามืดแล้วใส่รถรุน หรือหาบน้ำไปขายตามบ้าน เช่น ตาหลบ(#ผู้ริเริ่มการหาบน้ำขาย) ลุงปลอด ลุงเชื้อ น้าแหวง บ่าวเอียด และคนอื่นๆ ในราคาปี๊ปละ 50 สตางค์ แล้วขยับขึ้นมาเป็นปี๊บละ 1 -5 บาท จากนั้นก็ขายเป็นแกลลอนขนาด 15 -20 ลิตร แกลลอนละ 3 -5 บาท ใครอยากซื้อน้ำก็ตะโกนบอก กวักมือเรียกกันได้ ถือว่าคนทะเลน้อยไม่เชย เพราะมีการส่งสินค้าถึงบ้านกันตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

และเมื่อใช้บ่อกันไประยะหนึ่ง ก้นบ่อจะสกปรก เพราะใบไม้ กิ่งไม้ หิน โคลน ดิน ตกตะกอนหมกหมม พระสงฆ์จึงช่วยกันทำความสะอาดบ่อ โดยการวิดน้ำออกแล้วเอาบาตรเอาผ้าอุดตาน้ำไว้ เมื่อน้ำหยุดไหลจะวิดน้ำที่เหลือออกแล้วรื้อเอาเศษสิ่งสกปรกทิ้งไป เป็นแบบนี้มานานหลายชั่วอายุคน ต่อมาได้มี การปรับปรุงบ่อน้ำครั้งใหญ่ขึ้น เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 ต้นๆ เพราะลักษณะเดิมของปากบ่อที่อยู่ในระดับต่ำจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ คือคน หมา แมวพลัดตกลงไปในบ่ออยู่เป็นประจำ อีกทั้งสิ่งสกปรกก็ตกลงไปได้ง่ายด้วย เพื่อความปลอดภัยและความสะอาด ท่านพระครูปริยัตยาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสในสมัยนั้นพร้อมเณรและชาวบ้าน จึงได้ทำการรื้อบ่อ เอาอิฐโบราณออกไปเหลือแต่ส่วนที่เป็นฐานไว้แล้วหล่อท่อปูนซีเมนต์ทรงกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.60 ม. เส้นรอบวง 5 ม. ความลึกจากก้นบ่อถึงปากบ่อ 6.25 ม. กรวม (ครอบ) ลงไปบนฐานเดิม จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนระดับน้ำนั้นจะขึ้นลงตามฤดูกาล โดยปัจจุบันระดับน้ำจะลึกท่วมหัวประมาณ 2.12 ม. (วัดระดับน้ำเมื่อ 31 กรกฎาคม 2565)

ด้านคติความเชื่อเกี่ยวกับบ่อน้ำนี้ มีเรื่องเล่าที่คนสมัยก่อนมักเล่าให้ฟังถึงความเก่าแก่ มนต์ขลัง และเหตุการณ์ลี้ลับยากจะพิสูจน์หลายเหตุการณ์ จนทำให้พวกเราผู้ฟังวัยเด็ก รู้สึกตื่นเต้นและขนหัวลุกกันเลยทีเดียว แต่ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงให้ผู้อ่านทราบเสียก่อนว่า เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ผู้ถ่ายทอดเรื่องเหล่านี้บางคนก็ประสบเจอเหตุการณ์ด้วยตนเอง บางคนได้ฟังต่อๆ กันมาอีกทอดหนึ่งเท่านั้น และ ขอย้ำว่าการเล่าเรื่องในครั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เกิดความเชื่อที่ปราศจากปัญญาและหลักเหตุผล จึงขอให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วย
ตัวอย่าง เรื่องลี้ลับ เกี่ยวกับบ่อน้ำที่ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าไว้ เช่น ในบางค่ำคืนจะมีคนเห็น พระภิกษุชราเดินออกมาจากอุโบสถโบราณมาอาบน้ำที่บ่อ เมื่อเด็กวัดเดินไปดูใกล้ๆ พระภิกษุชรารูปนั้นกลับหายไป แต่ทิ้งร่องรอยไว้คือน้ำที่ยังเปียกอยู่บนพื้นดินเท่านั้น

บางครั้งก็มีคนพบ ไหสมบัติกลิ้งเคลื่อนที่ได้ พอเดินตามไป ไหนั้นจะกลิ้งไปที่บ่อน้ำหลังอุโบสถเก่าและตกหายลงในบ่อ หาเท่าไรก็ไม่เจอ
บ้างก็มีคนเห็น งูเห่าเผือกมีหงอนตัวใหญ่ เลื้อยเข้า-ออกจากโพรงดินใต้ฐานพระประธานในอุโบสถหลังเก่า ดูน่าเกรงขามยิ่ง
บางครั้งก็มีการใช้น้ำจากบ่อ ไปใช้ รักษาคนไข้ เมื่อคนไข้ได้ดื่มน้ำจากบ่อนี้แล้วจะหายจากความเจ็บป่วย
และชาวบ้านก็ยังเชื่อกันอีกด้วยว่า ใครก็ตามที่ทำไม่ดีมา เมื่อมากินน้ำที่บ่อนี้ จะมีอันเป็นไป เช่น ชักกระตุก ตาเหลือก เป็นต้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ฝ่าฝืนมาอาบน้ำที่บ่อนี้ เพราะมีกฎว่า ห้ามผู้หญิงมาอาบน้ำที่นี้

เรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบได้ แต่มันก็ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าทำให้บ่อน้ำสกปรก และช่วยกันดูแลความสะอาดของน้ำและบ่อน้ำเรื่อยมา หรือนี้จะเป็น กุศโลบายอันแยบยล เพื่อคงผลประโยชน์ให้แก่คนทุกคนในชุมชนสืบมาก็เป็นได้ ขอให้ท่านคิดไตร่ตรองกันเอาเอง
และหากท่านมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบ่อน้ำที่วัดทะเลน้อยที่ท่านเคยได้รับรู้มาและอยากถ่ายทอดให้ชาวชุมชนได้รับรู้ด้วย ท่านสามารถเล่าเรื่องราวเหล่านั้นได้ที่คอมเม้น หรือส่งมาทางกล่องข้อความในเพจวัดทะเลน้อย จ.พัทลุงได้ตลอดเวลา

ปัจจุบันวัดทะเลน้อยมีบ่อน้ำทั้งหมด 3 บ่อ คือ บ่อที่อยู่หลังอุโบสถเก่า บ่อที่อยู่ในศาลาการเปรียญ และ บ่อที่อยู่ข้างต้นยางใหญ่ทางทิศตะวันตกของวัด
แม้ชาวบ้านจะไม่ได้ใช้น้ำจากบ่อน้ำเหล่านี้กันแล้ว แต่มันก็เป็นหลักฐานที่ดีซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเทียดทวดโปย่าพ่อเฒ่าแม่เฒ่าของชาว ทะเลน้อย-พนางตุง มีวิถีชีวิตกันอย่างไร มันทำให้เราคิดถึงพวกท่านขึ้นมาจับใจ พอนึกภาพย้อนไปก็ได้แต่ อมยิ้มมีความสุข กับความผูกพันของเรากับท่านและภาพวิถีชีวิตแบบที่หาไม่ได้ในสมัยนี้
พวกเราลูกหลานชาวทะเลน้อย~พนางตุงจึงขอร่วมอนุรักษ์บ่อน้ำเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานได้เห็นสืบไป

ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ พระครูปลัดประสิทธิ์ ปสฏฺโฐ เจ้าอาวาสวัดทะลเน้อย เป็นผู้เล่าความ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน