อลังการนางรำสวมชุดผ้าพื้นเมือง 1,072 คน รำบวงสรวงถวาย “พระสี่มุมเมือง” พร้อมทำพิธีกวนข้าวยาคู (ข้าวมธุปายาส) สมโภชพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ และงานกาชาดประจำปีของดีเมืองลุง ประจำปี 2567
วันที่ 8 มิถุนายน 2567 ที่ลานหน้าพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ นางนิศากร วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ประธานพิธีงานสมโภชพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศและงานกาชาดประจำปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 7-16 มิถุนายน พร้อมด้วยข้าราชการและ ประชาชนจำนวนมากร่วมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ บวงสรวงพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ “พระสี่มุมเมือง” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพัทลุงและภาคใต้ โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีบวงสรวงตามแบบฉบับโบราณ และในปีนี้ครอบรอบ 56 ปี ที่พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ประดิษฐานศาลาจัตุรมุข อยู่บริเวณด้านหน้าระหว่างศาลากลางจังหวัดกับศาลจังหวัดพัทลุง อย่างสง่างาม นอกเหนือจากทำพิธีบวงสรวงตามแบบฉบับโบราณแล้ว จังหวัดพัทลุงได้จัดนางรำจากส่วนราชการต่างๆรวมถึงประชาชนชาวจังหวัดพัทลุงจาก 11 อำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง สวมใส่ชุดผ้าพื้นเมืองสวยงาม จำนวน 1,072 คน ร่ายรำบวงสรวงถวายรอบบริเวณศาลาจัตุรมุข ที่ประดิษฐานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ สวยงามสุดอลังการและยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้นนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริการส่วนจังหวัดพัทลุง จัดพิธีกวนข้าวยาคู หรือ ข้าวมธุปายาส จำนวน 15 กระทะ จากอำเภอต่างๆ จำนวน 11 กระทะ รวมทั้งองค์การบริหารส่วนราชการจังหวัดพัทลุง และเทศบาลเมืองพัทลุง ซึ่งจะได้ข้าวยาคูประมาณ 100 กิโลกรัม แจกจ่ายผู้เข้าร่วมพิธีเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว โดยมีนางนิศากร วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ ประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมที่สำคัญดังกล่าว
สำหรับพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือที่รู้จักกันดีว่า “พระพุทธรูปสี่มุมเมือง” ซึ่งมีอยู่ 4 องค์ด้วยกัน และหนึ่งในสี่องค์นั้นประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดพัทลุง โดยนับเป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้ และเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพัทลุงเช่นกัน พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ภายในศาลาจัตุรมุข บริเวณด้านหน้าระหว่างศาลากลางจังหวัดกับศาลจังหวัดพัทลุง มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด ปางสมาธิ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อปี พ.ศ.2511 ขณะพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศนั้นได้รับการจัดสร้างขึ้นตามความเชื่อและโบราณราชประเพณีของบ้านเมือง ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักรักษาขอบขัณฑสีมาทั้งสี่ทิศ โดยเป็นการสร้างตามแบบ “จัตุรพุทธปราการ” คือ เป็นการนำเอาวัดหรือพระพุทธรูปมเป็นปราการทั้งสี่ด้าน เพื่อปกป้องภยันตรายจากอริราชศัตรู คอยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เสริมสร้างดวงชะตาแก่บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
ปัจจุบันได้มีการอัญเชิญพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ทั้ง 4 องค์ไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆ ตามทิศทั้งสี่ของประเทศไทย ได้แก่ ทิศเหนือศาลหลักเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ทิศใต้จังหวัดพัทลุง ทิศตะวันออกวัดศาลาแดง จังหวัดสระบุรี ทิศตะวันตกเขาแก่นจันทน์ จังหวัดราชบุรี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: