พระนครศรีอยุธยา-หน่วยกู้ภัยสมาคมอยุธยารวมใจร่วมกับผู้ใหญ่ใจดี และภาคเอกชนจัดโครงการสอนน้องลอยตัวในน้ำ หวังลดการจมน้ำของเด็ก
เมื่อพูดถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ ไปที่ไหนก็เจอน้ำ บ้านเรือนประชาชนส่วนใหญ่อยู่ใกล้น้ำ แต่ละวัน แต่ละเดือน หรือแต่ละปี มีเด็กเล็กจมน้ำเสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากความเผลอเลอของผู้ปกครอง ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การไม่รู้จักเอาตัวรอดของน้องๆ อายุน้อย ก็ทำให้มีโอกาสจมน้ำได้
หน่วยกู้ภัยสมาคมอยุธยารวมใจ เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่เป็นจิตอาสาในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต บ่อยครั้งที่ต้องทำหน้าที่ประดาน้ำลงไปค้นหาร่างของเด็กที่จมน้ำเสียชีวิต ภาพสลดใจเช่นนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องมาคอยรับร่างไร้วิญญาณขึ้นจากน้ำ ด้วยเหตุนี้เอง สมาคมอยุธยารวมใจ นำโดย รุ่งอรุณ แสงไพโรจน์ ประธานบริหารสมาคมฯ และนายนพ ชีวานันท์ กรรมการสมาคมฯ ร่วมกับมูลนิธิ มูลนิธิไทยซัมมิทพัฒนา โดยนายธรรมนูญ ยิ้มละมัย และนายชวลิต แสงไพโรจน์ นายกอบต.วังแดง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ในการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อป้องกันการจมน้ำขึ้น โดยเริ่มที่อบต.วังแดง เป็นที่แรก
รุ่งอรุณ กล่าวว่า จากการที่สมาคมอยุธยารวมใจ ได้รับแจ้งเหตุจากการการจมน้ำของเด็กๆในเขตพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงต่างๆมากมาย ก็เลยคิดว่าจะต้องหาวิธีการที่จะป้องกัน โดยร่วมกับทางโรงเรียนและ อบต.ต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้ง 16 อำเภอ โดยตั้งโครงการสอนน้องลอยตัว เพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นได้ สำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าได้เรียนด้วยความตั้งใจก็จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ขณะที่ตกน้ำและรอการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ หรือหน่วยกู้ภัย โดยก่อนหน้านี้ทางสมาคมฯได้ส่งส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัย ทีมงานชุดดำน้ำของสมาคมไปฝึกและไปเรียน เกี่ยวกับการสอนเด็กลอยตัวโดยตรง สามารถเป็นครูและมาให้ความรู้กับเด็กๆได้ ขณะเดียวกันทางสมาคมยังมีทีมงานเจ้าพระยาของสมาคม ผ่านการไปเรียนดำน้ำในหลักสูตรมาตราฐาน ที่สามารถดำน้ำได้ทั่วโลก สามารถลงไปดำน้ำได้ด้วยความปลอดภัย ซึ่งมีจำนวน 50 คน โครงการนี้จะตระเวนไปทั่วทั้งจังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เด็กและผู้ปกครองคำนึกถึงความปลอดภัยจากการที่เกิดอุบัติเหตุทางน้ำ
นาย อภิชาติ สุขสมบูรณ์ หนึ่งในคณะกรรมการสมาคมฯและเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการดำน้ำเปิดเผยว่า ช่วงปิดเทอมจะมีข่าวเด็กจมน้ำเสียชีวิตมาก ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ชนบทมีห้วยหนองคลองบึงมาก และเด็กก็ไม่ได้ระวังในการลงไปเล่นน้ำ และเมื่อเกิดความตกใจและกำลังจะจมน้ำเนื่องจากไม่รู้จักวิธีเอาตัวรอด ก็จะเสียชีวิตได้ หลังจากที่ผ่านการนำเจ้าหน้าที่ไปอบรมมาแล้ว ก็จะนำมาถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กๆ โดยทุกคนมีใบรับรองใบอนุญาต ที่สามารถเป็นวิทยากรเป็นครูฝึกได้ หัวข้อการอบรมเป็นวิธีการเอาตัวรอดเมื่อตกน้ำหรือวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำอย่างถูกวิธี ทำให้ลดการสูญเสียทั้งผู้ประสบเหตุและผู้ที่จะช่วยผู้ตกน้ำให้เป็นผู้ประสบเหตุเองจะได้ไม่เกิดเหตุเศร้าสลดซ้ำซ้อนขึ้นมา ซึ่งใช้เวลาอบรมเพียง 10 ชั่วโมงเด็กก็จะลอยตัวและเอาตัวรอดได้ โดยฝึกซ้อมกันในบรรยากาศจริงมีอ่างน้ำจำลอง อย่างไรก็ตามแม้ว่าสมาคมอยุธยารวมใจจะมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่พร้อมต่อการช่วยเหลือ แต่คิดว่าหากไม่เกิดเหตุขึ้นก็จะเป็นการดีที่สุด
จักรณรงค์ นัยโมลี อีกหนึ่งครูฝึกยังบอกด้วยว่า หลักสูตรที่สอนเด็กๆก็คือหลักสูตร “ตะโกนโยนยื่น” ได้แก่การร้องขอความช่วยเหลือ และการให้การช่วยเหลือ และการที่สำคัญคือการCPR เมื่อเด็กจมน้ำแล้วขึ้นมาแล้วไม่มีชีพจรเราจะต้อง CPR ก่อน เพราะว่าบางครั้งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถไปถึงที่เกิดเหตุได้ทัน ก็ต้องให้คนในพื้นที่ช่วยCPR ให้คืนชีพกลับมาก่อน ซึ่งการฝึกเริ่มตั้งแต่เด็กป.1ถึงป.6 หลังอบรม จะสามารถเอาตัวรอดได้เลย บางครั้งว่ายไปแล้วเริ่มเหนื่อยไม่มีแรง ก็จะมีเทคนิคการลอยตัวในน้ำ มีการฝึกการหายใจให้ลอยตัวพยุงตัวในน้ำได้นานเท่าที่สุดก็ให้คนอื่นมาช่วยเรา นอกจากการเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ยังเอาตัวรอดด้วยอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเชือกเองหรือว่าถังน้ำที่สามารถหาได้ในพื้นที่สามารถนำไปช่วยเหลือคนที่จมน้ำได้ เพียงโยนลงไปให้เขาเกาะ ทั้งหมดนี้หากมีการฝึก ก็สามารถที่จะทำให้น้องๆเอาตัวรอดได้ และลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการช่วยเหลือ การป้องกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือผู้ปกครองต้องระมัดระวังไม่ให้เด็กอยู่ใกล้น้ำดีที่สุด หรือหากต้องลงเล่นน้ำก็ควรมีผู้ใหญ่คอยดูแล
นพ ชีวานันท์ ผู้ให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่าตนในฐานะชาวท่าเรือ และเป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีโอกาสได้เห็นคุณพ่อคือนายพ้อง ชีวานันท์ อดีต ส.ส.พระนครศรีอยุธยา่ ได้ช่วยเหลือประชาชน จึงอยากที่จะช่วยเหลือท้องถิ่นบ้าง หลังจากพ่อเสียไปแล้ว ได้มีโอกาสมาช่วยเหลืองานกู้ภัย ก็จะพบเห็นเรื่องการจมน้ำของเด็กบ่อยมาก จึงได้ร่วมกันจัดโครงการนี้ และชวนผู้ให้การสนับสนุนมาช่วยในเรื่องสถานที่ อาหารกลางวัน ซึ่งตั้งใจที่จะตระเวนไปทุกอำเภอเป็นการสร้างภูมิให้กับเด็กนั่นเอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: