พระนครศรีอยุธยา-ชาวบางบาลสุดปลื้มพ่อเมืองกรุงเก่าเดินลุยป่ากว่า 2 .กม. ทึ่งนกเหยี่ยวรุ้งบินหากิน เน้นทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมสำรวจจำนวนต้นไม้ชัดเจน
วันที่ 4 ธ.ค.นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนายเกษม สุขวารี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางรัตนา หวังเทพอนุเคราะห์ ส.จ.พระนครศรีอยุธยา นายชูเกียรติ บุญมี นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ สันธินาค ประธานเครื่อข่าย ทสม.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดร.สาลินันท์ บุญมี คณบดีคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ อ.กอบชัย เมฆดี ผู้อำนวยการบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชน มทร.สุวรรณภูมิ พระนครศรีอยุธยา ศูนย์วาสุกรี และเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้เดินทางไปยังบริเวณผืนป่าอำเภอบางบาล
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เดินสำรวจป่าซึ่งแบ่งเป็นสองฝั่งมีสะพานวัดจุฬามณีกั้นกลาง ซึ่งพบว่าป่ามีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ที่สำคัญผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ความสนใจกับต้นยางขนาดความสูง 22 เมตรอายุกว่าร้อยปี มีอยู่จำนวนมาก โดยพบว่ามีการขุดลำต้นเพื่อเผาเอาน้ำยาง ซึ่งได้ถูกทางเทศบาลสั่งระงับการเผาดังกล่าวไปก่อนหน้าแล้ว ซึ่งจุดที่ได้รับความสนใจจากคณะสำรวจอย่างมากคือบริเวณซากโบราณสถาน ที่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนว่าเป็นสถานที่ใช้ปฎิบัติกิจใดในทางศาสนา
โดยระหว่างการเดินสำรวจยังพบว่ามีนกเหยี่ยวจำนวน 4-6 ตัวเป็นเหยี่ยวดำ และเหยี่ยวรุ้ง หัวขาว บินโฉบปลาในแม่น้ำ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับทุกคน ซึ่งนกเหยี่ยวดังกล่าวนับเป็นสัตว์ที่หายาก และจะบินมาในช่วงเดือนธันวาคมเท่านั้น เป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็น และบรรดานักส่องนกมาชมกัน ซึ่งใช้เวลาการเดินรอบป่าดังกล่าวเกือบ 1 ช.ม.
นายภานุ กล่าวภายหลังการเดินสำรวจว่า นับเป็นความประทับใจอย่างมากที่พบว่าป่าแห่งนี้ยังมีความสมบูรณ์อย่างมาก ซึ่งทางเทศบาลตำบลบางบาลได้เสนอกับทางจังหวัดฯในการดำเนินการโครงการสวนพฤกษศาสตร์ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนา ก่อนหน้านี้มีผู้เช่าที่ดิน ประมาณ 5-6 รายและทราบว่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการสวนพฤกษศาสตร์ มีอยู่อีกรายหรือสองรายที่ต้องมีการเจรจาทำความเข้าใจในเรื่องของโครงการดังกล่าว ซึ่งหากดำเนินการตรามขั้นตอน ก็จะทำให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเร่งสำรวจความชัดเจนจำนวนต้นไม้ และพรรณไม้ เพื่อวางแนวทางในการดำเนินการเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังให้สำนักงานพระพุทธศาสนาศึกษาข้อมูลซากวัดที่พบว่ามีความสำคัญ และประวัติศาสตร์อย่างไร
ด้านนายชูเกียรติ เปิดเผยว่าชาวบ้านรู้สึกดีใจอย่างมากที่ป่าแห่งนี้จะเป็นสวนพฤกษศาสตร์ และเป็นที่สนใจของคนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นหลังรักสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนจะได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: