พระนครศรีอยุธยา-ชาวมหาราชนำปลาพื้นบ้านมาเลี้ยงจนมีขนาดใหญ่เต็มบ่อ หวังปล่อยคืนธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
พศิน วีระสัย หรือเต้ย อายุ 54 ปี เป็นชาว ต.น้ำเต้า อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา อดีตเคยรับราชการอยู่การนิคมอุตสาหกรรมฯ แต่เกิดความเบื่อหน่ายชีวิตการเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง จึงกลับมาบ้านเกิด อ.มหาราช ใช้ชีวิตแบบพอเพียงจนเป็นที่รู้จักของคนในอำเภอมหาราชและข้างเคียง
พศิน เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันได้จัดพื้นที่นาเดิมเป็นสวนเกษตร ด้วยการแบ่งเป็นสระน้ำ 6 ไร่เศษ จากพื้นที่ทั้งหมด 10 ไร่ เพื่อทำการปลูกพืชล้มลุก พืชสวนครัว และใช้วิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่น่าสนใจคือการนำปลามาเพาะเลี้ยงในสระน้ำ จนเป็นปลาขนาดใหญ่
พศิน บอกว่าปลาที่เห็นอยู่ในบ่อน้ำ เอามาจากประตูระบายน้ำวัดอุโลม อ.มหาราชซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่น เอามาจากประตูด้านเหนือ บางส่วนก็เอามาจากชาวบ้านขอบ้าง ซื้อบ้าง เป็นปลาตัวเล็กๆ เพื่อนำมาเลี้ยง จนทำให้ปลาในบ่อ เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่มาก เช่นปลากราย ปลาเทโพ ปลาหมอตาล ปลากระทิง ปลาสวาย ปลาแสลด ปลาสลิด ปลาช่อน ปลาข้าวเม่า และปลากระดี่ ใช้เวลาในการเลี้ยงนานกว่า 3 ปี จนทำให้ปลาในบ่อมีขนาดใหญ่มาก ประกอบด้วย ปลากระโห้ ปลาบึก ปลาสวายขนาดใหญ่ ปลาเทโพหูดำ ซึ่งตัวใหญ่ที่เคยจับได้มีขนาดน้ำหนักมากกว่า 5 ก.ก. กระโห้ น้ำหนัก 10 ก.ก.
ความตั้งใจในการนำปลามาเลี้ยง เนื่องจากเมื่ออดีตเห็นว่าทุ่งมหาราช ที่เคยมีวิถีชีวิตแบบชนบท ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ปรากฏว่าในวันนี้ ปลาพื้นบ้านหายไปจากแหล่งน้ำ ตนไปทำงานอยู่กรุงเทพนาน กลับมาพบว่ามันหายไปหมด เลยมีความคิดอยากให้ธรรมชาติโดยเฉพาะพันธุ์ปลากลับคืนมา เลยใช้พื้นที่นาที่มีอยู่มาจัดเป็นสวนผสม ทำการเลี้ยงปลา เพื่อให้คลองคราม คลองหนองหม้อ สมัยเก่าที่เคยมีปลา ให้กลับมาให้ได้ และจากการทำบ่อปลา สิ่งที่หายากอย่างเช่นหอยกาบ ก็พยายามนำมาเพาะเลี้ยงในบ่อ จนมีรอบบ่อ นับแสนตัว ยังมีหอยขวานเกิดขึ้นจำนวนมาก นอกจากนี้ก็ปลูกพืชผักสวนครัว จับปลา งมหอย มาบริโภคแบบพอเพียง ในที่สุดก็ฟื้นธรรมชาติได้ ด้วยความตั้งใจที่ว่าต้องสร้างธรรมชาติให้คืนมาให้ได้ ทำแล้วมีความสุข ให้ลูกหลานได้เห็น ดูแลทั้งระบบน้ำ ความเป็นอยู่ เข้าใจธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันก็ได้ลูกชายชื่อน้องเกล้า มาคอยดูแล เรียนรู้ และเมื่อเรามีพันธุ์ปลาจำนวนมาก ตนก็อยากที่จะคืนปลาเหล่านี้สู่ธรรมชาติ ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 10
อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาแต่ละวันต้องใช้จำนวนมาก ต้องไปติดต่อตรงจากโรงงาน นำมาให้ปลาในบ่อกิน ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งจากแนวนโยบายโคกหนองนาโมเดล แต่ประสบปัญหาน้ำท่วม เลยต้องมาสร้างคันดิน แล้วปรับสภาพให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้ จึงเริ่มจากการเลี้ยงปลา ทำสวน แล้วแบ่งพื้นที่ให้เป็นสถานที่เรียนรู้ ที่สำคัญพยายามจัดบริเวณพื้นที่แห่งนี้ด้วยการสร้างบรรยากาศ รอบๆเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน หวังเป็นสถานที่เรียนรู้ และท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปพร้อมๆกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: