พระนครศรีอยุธยา- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนจัดกิจกรรมเล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม วันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านสมัยอยุธยาและพัฒนาให้คงอยู่ในบริบทที่สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผ่านการบันทึกเสียงและบันทึกเป็นโน้ตสากล เรียบเรียงใหม่และบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา จัดแสดงให้เข้าชมในจำนวนที่นั่งตามข้อกำหนดการป้องกันโควิด-19 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา
มานัส ทรัพย์มีชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 ก.พ.นี้ เวลา 16.30-18.30 น. บริเวณหน้าวัดพระราม จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีการจัดกิจกรรม “เสียงอดีตสร้างจินตนาการภาพโบราณ เล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม” โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รูปแบบกิจกรรมเป็นการจัดแสดงดนตรี “เพลงสมัยอยุธยา” โดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ควบคุมและเรียบเรียงเพลงโดย พันเอกประทีป สุพรรณโรจน์ ซึ่งฉากหลังเป็นวัดพระรามจะทำให้ผู้ฟังเสียงเพลงสัมผัสมิติของความเคลื่อนไหวและมีชีวิต พลังของเพลงจะสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้น เพื่อมองย้อนกลับไปในบรรยากาศโบราณ “วัดพระราม” และจินตนการภาพของกรุงศรีอยุธยาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งตามเสียงที่ได้ยิน ทั้งนี้ยังถือโอกาสเชิญชวนให้ชมความงามของการส่องไฟโบราณสถานด้วย
โดยในวันที่ 10 ก.พ. ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานแถลงข่าวการจัดกิจกรรม “เสียงอดีตสร้างจินตนาการภาพโบราณ เล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม” วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ณ โถงกิจกรรม ชั้น 1 อาคารสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พร้อมทั้งร่วมการเสวนาการสร้างจินตนาการเพลงพื้นบ้าน การขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกของชาติ กับ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สกรี เจริญสุข
ดนตรีพื้นบ้านซึ่งเป็นบทเพลงสมัยอยุธยาได้รับการคัดเลือกมาเรียบเรียงใหม่ พร้อมทั้งบันทึกเสียงและบันทึกเป็นโน้ตสากล ส่วนเครื่องดนตรีสากลที่ใช้ในการบรรเลงครั้งนี้ ประกอบด้วย ไวโอลินหนึ่ง ไวโอลินสอง วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส เครื่องเป่า ฟลุต โอโบ คลาริเน็ต บาสซูน ฮอร์น ทรัมเป็ต ทรอมโบน ยูโฟเนียม ทูบา และเครื่องประกอบจังหวะ และแบ่งการแสดงเป็น 6 ชุดการแสดง ได้แก่ 1. การแสดงชุดเพลงตับโบราณ 2. การแสดงชุดกลุ่มเพลงฝรั่ง ขับร้องเพลงสุดใจและเพลงสายสมร โดย นางสาวกมลพร หุ่นเจริญ 3. การแสดงชุดเพลงโยสลัมและเครือญาติ 4. การแสดงชุดเพลงแขกเปอร์เซีย 5. การแสดงเพลงค้างคาวกินกล้วย เดี่ยวขลุ่ย โดย อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ 6. การแสดงชุดจีนแจ๋ไจ้ยอ เดี่ยวขิม โดย ครูนิธิ ศรีสว่าง
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับดนตรีพื้นบ้านถือเป็นอัตลักษณ์ที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และความเป็นไปของสังคม สามารถบ่งบอกร่องรอยประวัติศาสตร์ของชุมชน สถาปัตยกรรม วรรณคดี ความเชื่อและประเพณีของชุมชน ผ่านเสียงดนตรีพื้นบ้าน เนื้อเพลงที่ขับร้อง สื่อผ่านภาษาพูด สำเนียงพูด ประเพณีและพิธีกรรมของชุมชน ทว่าดนตรีพื้นบ้านที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมกำลังจะถูกลืมเลือนหายไปจากชุมชนตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านไม่สามารถสร้างรายได้ และไม่ตอบสนองพฤติกรรมด้านความเป็นอยู่หรืออาชีพในระบบทุนนิยม
ดังนั้น วช. จึงได้สนับสนุนการวิจัยภายใต้ “โครงการวิจัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน” และ “โครงการขยายผลต่อยอดนวัตธรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ” แก่ “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข” ซึ่งดำเนินการโดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งใหม่บรากฐานสิ่งเก่า เพื่อรักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของสังคมไทยให้สืบทอดและคงอยู่ต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ซึ่งมีภารกิจในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ครอบคลุมการวิจัยพื้นฐาน วิจัยประยุกต์ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งสหสาขาวิชาการ ได้เล็งเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นมรดกทางภาษาและวัฒนธรรมไทยที่มีคุณค่า และมีความสำคัญต่อคนไทย มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในทุกท้องถิ่น จึงได้สนับสนุนทุนอุดหนุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยแก่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เพื่อขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน โดยนำบทเพลงดั้งเดิมที่เรียบเรียงเสียงประสานใหม่มาบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราร่วมกับกลุ่มนักดนตรีท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปใช้เป็นเพลงต้นแบบสู่สากล และเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาเพลงพื้นบ้านอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวให้ดำรงอยู่สืบไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) จึงจัดแสดงให้เข้าชมในจำนวนที่นั่งตามข้อกำหนดการป้องกันโควิด-19 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา และการแสดงครั้งนี้จะใช้วิธีถ่ายทำโดยบันทึกภาพและเสียงเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์ อีกทั้งยังเป็นการทดลองเพื่อหาทางออกและการปรับตัวใหม่ เพื่อให้นักดนตรีที่มีฝีมือได้ทำงาน ได้สร้างงาน และสามารถอยู่ในอาชีพดนตรีและมีรายได้ หลังจากนักดนตรีไม่มีงานทำเพราะพื้นที่ทำมาหากิน เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม งานเทศกาล กิจกรรมรื่นเริง งานเฉลิมฉลอง งานวิชาการต่างๆ งดจัดงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: