พระนครศรีอยุธยา-สุดปลาบปลื้ม พสกนิกรร่วมเฝ้ารับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยเจ้าคุณพระสินีนาฏพิลาสกัลยาณี ไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ณ วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
วันที่ 20 มีนาคม 2564 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปทรงทอดพระเนตรโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร และทรงเปิดวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ณ วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายเด่นชัย ศรีจุลฮาต ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลโท เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพภาคที่ 1 พลตำรวจโท อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 หม่อมราชวงศ์ พรรณนภา วงพรรณนภา ดิศกุล ที่ปรึกษาโครงการอนุรักษ์ และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติพร้อมข้าราชการและประชาชนเฝ้ารับเสด็จฯ
วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา บนเกาะลอย ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างขึ้น เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เพื่อทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อครั้งเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน โดยไฮไลท์จะอยู่ที่การใช้สถาปัตยกรรมแบบโกธิค เลียนแบบโบสถ์ของศาสนาคริสต์ ด้วยที่ตั้งของวัดนี้ อยู่บนเกาะกลางน้ำ ทำให้การจะเดินทางไปยังวัด ต้องมาทางเรือหรือนั่งกระเช้า เข้ามาเท่านั้น
วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร จึงมี กระเช้าไฟฟ้าลอยน้ำ ที่เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของวัด โดยกระเช้าจะออกทุก 5-10 นาที นั่งได้ 4-5 คน โดยประมาณ ซึ่งตัวกระเช้าและสายรอกนั้น จะมีความแข็งแรงอยู่ระดับหนึ่ง รับรองว่าไม่ตกลงไปอย่างแน่นอน แต่ความสวยของกระเช้าจะอยู่ที่ ตัวกระเช้าและศาลาที่นั่ง โดยจะมีลักษณะแบบไทยโบราณแต่ก็มีความคลาสสิค และยังมีลวดลายที่สวยงามอีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
นอกจากนี้ พระอุโบสถ ของวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร ซึ่งมีสีเหลือง ก็มีความพิเศษอยู่ตรงที่ด้านหน้าบริเวณทางเข้าของพระอุโบสถ จะมีมุขยื่นออกมาเป็นแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่วซ้อนกัน 2 ชั้น รอบผนังพระอุโบสถจะเจาะช่องหน้าต่าง เป็นลักษณะโค้งๆ แต่ปลายแหลมแบบโกธิก ส่วนบริเวณหลังพระอุโบสถ จะเป็นหอระฆังยอดโดม เป็นทรงกรวยแหลม สูง 3 ชั้น ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐาน พระพุทธนฤมลธรรโมภาส เป็นพระประธาน ตกแต่งแบบผสมผสานศิลปะระหว่างแบบประเพณีนิยมกับแบบตะวันตกเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากตัวอุโบสถแล้วก็ยังมีสุสานสวนหิน พิพิธภัณฑ์ ให้ได้เดินเที่ยวชมกันอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: