X

ติดเชื้อกักตัวไม่ได้กินข้าวโพสต์ถามเงินค่าอาหาร

พระนครศรีอยุธยา-ผู้ติดเชื้อที่อยุธยาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของตัวเอง ถามหางบประมาณ 1000 บาท/วัน/คน ที่ให้คนป่วยกักตัวหายไปไหน อาหารไม่ได้สักมื้อ ซัดปลากระป๋องแจกจากกาชาดทุกวัน สสจ.แจงไม่ใช่ค่าอาหารทั้งหมด แต่เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ครวญเงินรพ.มีสำรองไม่พอจ่ายก่อน ใช้เงินค่าอาหารไปกว่า 10 ล้านบาท

ผู้ติดเชื้อโควิดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยารายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คของตนเองว่า”งบประมาณที่ สปสช.ให้1000บาท/วัน/คน กับอาหารที่ผู้ป่วยได้รับ คุณภาพมันต่ำเกินที่จะนิ่งดูดายจริง ๆครับ รบกวนท่าน สส.ดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยทุกท่านด้วยครับ ผมแค่ประชาชนคนหนึ่งทำ อะไรไม่ได้ “ โดยมีภาพของอาหารจำนวน 3 มื้อด้วย ทำให้มีสื่อโซเชียลนำไปแชร์ต่อๆกัน กลายเป็นที่วิพากย์วิจารณอย่างมาก โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นโรงพยาบาลใด

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังผู้กักตัวดังกล่าวทราบว่า ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.และเข้าระบบเรียบร้อย ทางโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดฯ ได้ให้กลับไปกักตัวที่บ้าน และนัดไปตรวจดูเชื้อที่ปอด ก็ต้องเดินทางไปเอง จากนั้นก็กลับมากักตัวที่บ้าน โดยมีคนในครอบครัวกักตัวด้วยอีก 5 คน ซึ่งคนอื่นๆได้รับถุงยังชีพจาก อบต.ในพื้นที่ ส่วนตนทาง รพ.แจ้งว่าจะมีอาหารมาให้ 3 มื้อ แต่จนถึงวันที่ 12 ส.ค.ยังไม่เคยได้รับอาหารกล่องจากโรงพยาบาลเลยแม้แต่กล่องเดียว เมื่อสอบถามไปทางโรงพยาบาลแจ้งว่าคนมันเยอะ เราดูเรื่องการติดตามอาการอย่างเดียว ส่วนเรื่องอาหารทางโรงพยาบาลจ้างคนนอก จะติดตามให้ ซึ่งตนทราบมาว่าทาง สปสช.มีงบประมาณให้ในการจัดการเรื่องอาหารคนละ 1000/วัน/คน ซึ่งถึงแม้จะเป็นค่าบริการ ค่าอาหาร ค่าปรอท หรือค่าอะไรก็ตามตนก็ควรที่จะได้รับสิทธิ เหมือนคนอื่น และทราบว่ามีหลายคนที่ไม่ได้รับเหมือนกัน แต่ผลประโยชน์จะไปตกกับคนรับจ้างทำอาหารส่ง ที่รับเงินตามจำนวนคนแต่ไม่ส่งอาหารให้  และจากการตรวจสอบการส่งอาหารให้กับบางแห่งมีอหารอย่างดี แต่เชื่อว่าอาจจะอยู่ที่ผู้รับจ้างมากกว่า

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบหนังสือของ สปสช. ลงวันที่ 22 ก.ค.64 ลงนามโดย เลขาธิการสำนักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่แจ้งซักซ้อมความเข้าใจการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับโรคติดเชื้อโควิด-19 กรณีดูแลใน Home Isolation และ Community Isolation และแจ้งปรับปรุงราคาการให้บริการ ในระบบหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ถึงผู้อำนวยการหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสถานบริการเอกชน ทุกแห่ง  โดยระบุถึงค่าดูแลการให้บริการสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง (High Risk closed contract) ตามที่หน่วยบริการจัดให้  ค่าใช้จ่ายสำหรับคำดูแลการให้บริการสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ที่ให้บริการแก่ประชาชนไทยทุกคน รวมค่าอาหารจำนวน 3 มื้อ โดยจ่ายตามจริงไม่เกิน จำนวน 1,000 บาทต่อวัน ไม่เกินจำนวน 14 วัน  เพิ่มเติมรายการค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย โดยใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 20 ที่นั่งขึ้นไป  โดยจ่ายให้แก่หน่วยบริการ ที่จัดให้มีพาหนะรับส่งผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีผลสำหรับการบริการตั้งแต่วันที่  28 มิถุนายน 2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้  ค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย โดยใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 20 ที่นั่งขึ้นไป จ่ายตามระยะทางกรมทางหลวง ไป – กลับ  ระยะทางไปกลับ ไม่เกิน 100 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 5,000 บาท ระยะทางไปกลับ มากกว่า 100 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 5,000 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 10 บาท  ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ จ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้ง

นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ค่าอาหารจริง ๆอยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อมื้อต่อคน วันละ 3 มื้อ นอกนั้นเป็นค่าติดตาม เงิน 1,000 บาท ไม่ใช่ค่าอาหารทั้งหมด ซึ่งยอมรับว่าเคยรับทราบปัญหานี้ ส่วนใหญ่โรงพยาบาลรัฐจะจ้างคนนอกหลายเจ้าในการทำอาหารแจกจ่ายไปให้คนกักตัว พอคนจำนวนมาก ก็หมุนเงินไม่ทัน ต้องให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยดูแล  บางท้องถิ่นก็เจอปัญหาเงินสำรองไม่พอจ่ายค่าอาหาร เพราะคนที่อยู่ในระบบ HI CI เยอะมากขึ้น กว่าจะได้เงินคืนกลับมาตามระบบจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องใช้เวลากว่า 2 เดือน ทั้งโรงพยาบาลและท้องถิ่นเงินจึงไม่พอ อาจจะมีปัญหากับคนรับจ้างที่ต้องการเงินหมุนเหมือนกัน ทางผู้ว่าราชการจังหวัดฯทราบเรื่องนี้ ได้ให้ทางผู้อำนวยการและนายอำเภอหารือกัน ที่จะให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วย ซึ่งการได้เงินช้ายังมีปัญหาจากการที่ให้คนไข้เอาบัตรประชาชนมาคีย์เข้าระบบคนไข้ไม่เอามา ก็ไม่ได้คีย์ข้อมูลเข้าระบบเพื่อเบิกจ่าย ญาติก็กลัวติดไม่กล้าไปเอาบัตรมา ทางรพ.ก็ต้องสำรองไปเรื่อยๆ ถึงจะแก้ปัญหาแบ่งให้แม่ค้าหลายเจ้าทำอาหารแต่ก็เกิดปัญหาเช่นกัน ซึ่งใช้เงินค่าอาหารไปกว่า 10 ล้านบาทแล้ว ส่วนกรณีที่คนป่วยโทรทวงถามแล้ว จนท.ที่ติดตามอาการไม่ได้ติดตามเรื่องอาหารให้ อาจจะเป็นเพราะบุคลากรที่ทำงาน มักทำงานหน้าเดียวหน้าที่ใครหน้าที่มัน ซึ่งตนจะได้แจ้งให้ทางผู้อำนวยการทุกแห่งได้ทราบ และดูแลเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งหากใครไม่ได้รับอาหารให้ติดต่อโดยตรงกับศูนย์ HI ของโรงพยาบาลได้ทันที

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต การเมืองการปกครองท้องถิ่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา ปริญญาบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทร.สุวรรณภูมิ ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา รางวัลพระราชทานเทพทอง สมาคมนักวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นักเรียนการแสดง รัชฟีล์มที่วี artspa ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์เคเบิลเอทีวี บรรณาธิการเจ้าของเพจสถานีข่าวเอทีวี นักเขียนอิสระ