พระนครศรีอยุธยา-“ภานุ แย้มศรี”เขียนหนังสือ”บางเรื่องที่อยากเล่า ณ 2 บุรี 1 พระนคร”ก่อนเกษียณอายุราชการปลายกันยายน 64 หาทุนให้กับศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา เผยกิจกรรมเปิดปิดตัดริบบิ้นงาน ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นของภาระพ่อเมือง อีก 95 เปอร์เซ็นคืออะไรต้องหาอ่าน
ปลายเดือนกันยายน 64 นี้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่านเกษียณ รวมทั้งนายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ที่จะพ้นภาระหน้าที่เช่นกัน และก่อนอำลาตำแหน่งนายภานุ ได้เปิดใจกับ 77 ข่าวเด็ดถึงการเขียนหนังสือชื่อ”บางเรืองที่อยากเล่า ณ 2 บุรี 1 พระนคร” ซึ่งมีเพียง 1,000 เล่มเท่านั้น โดยบอกว่าใครที่อยากได้ต้องไปบริจาคเงินให้กับศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะขาดทุน เนื่องจากไม่มีรายได้จากการเข้าชม มีแต่รายจ่าย
นายภานุ เปิดเผยว่า หนังสือ”บางเรื่องที่อยากเล่าฯ”เล่มนี้ มาจากที่ตนเคยอ่านหนังสือ HOW TO เมื่อสมัยรับราชการใหม่ๆ มีความรู้สึกว่าการรับราชการก็ควรจะมี HOW TO เหมือนกัน เพื่อที่จะทำงานให้สำเร็จและให้ประชาชนพอใจ แต่พอลงมือเขียนมันรู้สึกยากมาก เพราะงานราชการมีระเบียบกฎหมาย จากประสปการณ์การรับราชการ 36 ปี 10 เดือน บางเรื่องมันคาบลูกคาบดอก แต่มันไม่ได้อยู่ในกรอบกฎหมายทั้งหมด แต่เราแก้ไขปัญหาได้ การทะเลาะบาดหมานกัน เกิดการปรองดอง ดังนั้นหากเขียน HOW TO มันดูจะหมิ่นเหม่ จากชีวิตรับราชการมีเรื่องเยอะมาก ดังนั้นจึงจำกัดจากการที่รับราชการ 6 ปีที่เป็นผู้ว่าฯลพบุรี 2 ปี นนทบุรี 2 ปีและพระนครศรีอยุธยา 2 ปี จึงใช้ชื่อหนังสือดังกล่าว
โดยหยิบยกเรื่องการทำงานของผู้ว่าฯที่มันยุ่งยากซับซ้อน บางเรื่องชวนบ่น ก็ไม่อยากบ่น แต่อยากฉายภาพให้เห็นการทำงานที่ต้องประสานงาน ต้องพาหน่วยงานต่างๆมาทำงานเพื่อแก้ปัญหา บางที่เป็นที่เฉพาะ บางที่เป็นเรื่องที่ต้องใช้วิธีการมากมาย ต้องชวนคนมาทำงานร่วมกัน ยกมาจังหวัดละ 2 เรื่อง ตั้งใจว่าเขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อที่จะมอบให้กับน้องๆ ภาคประชาสังคมที่เคยทำงานด้วยในสามจังหวัด พอเขียนไว้หลายคนบอกเป็นประโยชน์ดี พิมพ์มาเพียง 1,000 เล่ม ไม่ได้ตั้งใจที่จะจำหน่าย
ความบังเอิญที่มาอยู่พระนครศรีอยุธยาผมพบว่า มีสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในโอกาสที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระชนมพรรษา 60 พรรษา รัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบเงินให้เปล่าให้ไทย 999 ล้านเยน หรือ 170 ล้านบาทเศษ เป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ยาวนานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เงินจำนวนนี้นำมาสร้างศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา มีวัตถุประสงค์ในการเป็นสถาบันวิจัยเกี่ยวกับอยุธยา เป็นแหล่งเรียนรู้เป็นพิพิธภัณฑ์ และเป็นห้องสมุดเป็นศูนย์ความรู้ และการเป็นพิพิธภัณฑ์แตกต่างจากที่อื่น อยากเรียกว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ หากเป็นพิพิธภัณฑ์จะต้องเป็นนำทรัพย์สมบัติของชาติมาแสดง แต่ที่ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา เป็นสิ่งที่จำลองมาจากงานวิจัยมาจำลองให้เห็น วิถีชีวิตในอดีต เขาอยู่ยังไง อย่างเราเคยเป็นเมืองท่า นักวิจัยก็ไปค้นคว้ามาจำลองให้เห็น
ตั้งแต่ปี 2533 เปิดเป็นทางการ มีการซ่อมบำรุงจากเงินยุทธศาสตร์จังหวัดฯบ้าง แต่จากการบริหารจัดการต้องมีค่าใช้จ่าย แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการตั้งงบประมาณ ใช้เงินจากรัฐบาล ใช้เงินจากค่าผ่านประตู 50 บาท หรือจากค่านั่งรถราง แต่สองปีมานี้ได้ให้รายงานมาตลอดพบว่าศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา มีแต่รายจ่ายออก ไม่มีคนเข้าชม ตนเองห่วงว่าโรคร้ายโควิดสักวันก็หมดไป แต่ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยายังต้องอยู่ ต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ อนุสรณ์อันดีงามระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เลยตั้งใจว่าใครบริจาคเงินให้ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา 300 บาทก็จะได้หนังสือเล่มนี้ไป คิดว่า 600-700 เล่มน่าจะได้เงินเกือบ 2 แสนบาท น่าจะมีกำลังที่จะรอบ้านเมืองมาดูแล รอท่านผู้ว่าฯท่านใหม่มาดูแล หนังสือเล่มนี้เป็นการเล่าเรื่องแบบสนุก อย่างลพบุรี ก็ไปแก้ปัญหาเรื่องลิง เป็นปัญหาไม่มีเจ้าภาพ ทุกคนเชื่อว่าเป็นลิงพระกาฬ ลิงเจ้าเอาทุกหน่วยมาแก้ร่วมกัน ไปอยู่นนทบุรี ก็ไปมีส่วนร่วมกับการประมูลทุเรียน กลายเป็นสถิติทุเรียนแพงที่สุดในโลก มีเรื่องตื่นเต้นอย่างไร หรือมาอยู่อยุธยา ก็มาสู้กับโรคโควิดอย่างไร หรือแม้กระทั่งเรื่องการเสริมเสน่ห์เมืองด้วยการชวนเจ้าของปั๊มน้ำมันเก่าแก่กลางเมือง เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในเมืองแห่งเดียว และเป็นเอกลักษณ์สอดคล้อง ใช้เวลาในการคิดพูดคุย 1 ปี สุดท้ายได้เขียนถึงผักตบชวา ที่เห็นว่าราชการกำจัดไม่ได้ ต้องหาวิธีการใหม่จูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เหมือนการคัดแยกขยะ ซึ่งเคยนำชาวลพบุรี สอบตำบลที่โก่งธนู และม่วงค่อมเป็นต้นแบบคนมาดูงาน
ผมเขียนบทส่งท้ายว่า”เล่าเรื่องที่อยากทำ แต่ทำไม่ทัน “ซึ่งเขียนเอาไว้เผื่อว่าในเวลาข้างหน้าอาจจะมีองค์กร หรือมีภาคประชาชน หรือผู้ประกอบการ ที่เห็นว่าแนวคิดที่ผมเขียนเอาไว้เป็นประโยชน์ก็นำไปทำต่อ หนังสือเล่มนี้จึงเหมือนบันทึกเล่าสบายๆ เป็นเรื่องไม่เสียหายกับใคร หลายเรื่องเราก็ทะเลาะกับคน บางคนเขาทำไม่ถูกต้อง เราไปบังคับกำกับ ความไม่พอใจก็มี ผมก็ไม่อยากนำเสนอ อยากนำเสนอแนวบวก
ท้ายที่สุด นายภานุ แย้มศรี ยังบอกด้วยว่าผมยังติดใจเรื่องความสะอาด ปัญหาจากโควิดทำให้ ทำให้ผมทำเรื่องนี้น้อย พยายามชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าเรามีส่วนร่วมการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์จังหวัด ไม่ใช่หน้าที่ของราชการภูมิภาคหรือส่วนกลาง ทุกฝ่ายล้วนมีส่วน เสียดายมีเวลาน้อยในการชวนทุกคนทำน้อยไปหน่อย การเป็นมรดกโลกความสะอาดเป็นหัวใจอีกเรื่อง และเรื่องน้ำเสียไม่นานอยุธยาจะคล้ายนนทบุรีเวลานี้ แก้ปัญหาไม่ง่าย ถ้าไม่วางแผนไว้ก่อนก็จะแก้ไขยาก จะมีข้อจำกัด แต่อยุธยาถ้าวางแผนดีๆ ก็จะทำได้ อยากชวนให้ประชาชนและท้องถิ่นได้หยิบยกวางแผนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: