พระนครศรีอยุธยา-“เพื่อไทยจะฟื้นศักดิ์ศรีให้ชาวนาไทยกลับมายืนตรงมองฟ้าอย่างองอาจอีกครั้ง” นายแพทย์ชลน่าน พร้อมด้วยวิทยา บุรณศิริ และสส. นำทีมเพื่อไทย ลงพื้นที่อยุธยารับฟังพี่น้องเกษตรกรสะท้อนปัญหายุคประยุทธ์ เล็งใช้ทุกกลไกช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ชาวนา พร้อมหาแนวทางช่วยชาวช้าง
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายวิทยา บุรณศิริ อดีตรมต.สาธารณสุขและผู้ประสานงานส.ส.ภาคกลาง นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยาและรองเลขาธิการพรรค นายจิรทัศ ไกรเดชา ส.ส. พระนครศรีอยุธยา ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม. และโฆษกพรรค จิราพร สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ดและกรรมการบริหารพรรค , อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรค , ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ – หนุ่ม รองโฆษกพรรค , ตรีชฎา ศรีธาดา ) รองโฆษกพรรค และ ชญาภา สินธุไพร – รองโฆษกพรรค ลงพื้นที่ หมู่ 7 ตำบลชายนา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องชาวนา โดยมีตัวแทนชาวนาในพื้นที่ร่วมสะท้อนปัญหาการทำงานและอุปสรรคปัญหาของเกษตร ในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา
ตัวแทนชาวนา สะท้อนปัญหาตรงกันคือ ขณะนี้ชาวนาเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาไม่เคยตัวแทนรัฐบาลลงพื้นที่เข้ามาดูแลชาวบ้านเลย ทั้งที่เป็นจุดที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากพื้นที่อำเภอเสนาเป็นแก้มลิงชะลอรับน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ เมื่อมีน้ำเข้านากลับมีปริมาณมากเกิน แต่เมื่อต้องการน้ำทำนา กลับไม่มีน้ำใช้ น้ำแล้ง และน้ำส่งไปไม่ทั่วถึงที่นาชาวบ้าน .
นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและปัจจัยการผลิตสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย แต่ราคาข้าวกลับตกต่ำ ชาวนาตั้งราคาขายเองไม่ได้ บางรายเกี่ยวข้าวไม่ทันน้ำท่วมพื้นที่ ทำให้ขายได้เพียงตันละ 2,300 บาท ทั้งที่โดยทั่วไปได้ราคา 5,000-6,000 บาท หรือบางรายได้ 7,000 บาท บางพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำเปรี้ยว ส่งผลต่อเพาะปลูก
โดยนายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้พี่น้องชาวนาไทยหลายครัวเรือนต้องเจ็บปวดทนทุกข์ยากลำบาก การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อรับทราบปัญหาจากปากพี่น้องประชาชนพรรคเพื่อไทยจะใช้กลไกในสภาสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลชดเชยเยียวยา ขณะที่ ส.ส. พื้นที่ก็ได้ประสานงานอย่างสุดความสามารถเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนหลายเรื่อง แต่รัฐบาลไม่เคยใส่ใจ รวมทั้งจะนำสิ่งที่ได้รับฟังไปพัฒนาเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวนาไทยอยู่ดีกินดี มีชีวิตที่ดีกว่าวันนี้ พรรคเพื่อไทยจะฟื้นศักดิ์ศรีให้ชาวนาไทยกลับมายืนตรงมองฟ้าอย่างองอาจอีกครั้ง.
สำหรับปัญหาเชิงโครงสร้าง จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบและครบวงจร เมื่อพรรคเพื่อไทยมีโอกาสกลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยจะต้องดีขึ้น แม้พื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่จะหาวิธีทำให้การเป็นพื้นที่รับน้ำอยู่กับวิถีชีวิตประชาชนได้ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่ใช้เทคโนโลยี ที่ไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่เป็นองค์ความรู้ เปลี่ยนสิ่งที่ใช้ไม่ได้ให้เป็นสิ่งที่ใช้ได้ เพื่อให้อาชีพชาวนา อาชีพกระดูกสันหลังของประเทศเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่งมั่นคง .
“โครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลไม่ส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต ไม่ส่งเสริมการผลิต และไม่ส่งเสริมการตลาด เป็นเพียงการชดเชยส่วนต่าง ซึ่งแตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นการเข้าไปแทรกแซงกลไกราคาตลาด ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุ
ขณะที่ ธีรรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูงและปัญหาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เป็นทุกข์ที่ชาวนาไทยกำลังเผชิญ สำหรับพื้นที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งต้องประสบปัญหาน้ำท่วม น่าเสียดายแผนการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ 2 ล้านล้านบาท สมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้ริเริ่มไว้แต่ต้องถูกทำลายลงหลังการเข้ามาของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 7-8 ปีที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาทแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นโอกาสที่สูญเสียไปของประเทศไทยอย่างน่าเสียดาย ถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนอยู่ ไม่มีทางที่ประเทศนี้จะแข็งแกร่งมั่นคง “ขอให้ประชาชน พี่น้องชาวนาไทยอย่าเพิ่งหมดหวัง ขอให้มีกำลังใจ พรุ่งนี้เพื่อไทยจะกลับมาดูแลพี่น้องประชาชนให้อยู่ดีกินดีมีชีวิตที่ก้าวหน้าขึ้น” โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว
ต่อมาในวันเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วยนายคุณากร ปรีชาชนะชัย ส.ส.สุรินทร์ ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และ น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรค ร่วมรับฟังปัญหาผลกระทบด้านการท่องเที่ยวปางช้างกับนายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย ผู้จัดการทั่วไปวังช้างอยุธยา แล เพนียด และเลขาธิการมูลนิธิพระคชบาล หลังปิดปางช้างในช่วงล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19
นายคุณากร กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงช้าง ซึ่งออกมาเมื่อปีที่แล้วเฉพาะในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นำกลับมาช่วยเหลือผู้เลี้ยงช้างอีกครั้ง โดยเป็นการนำตั๋วรูปพรรณช้างมาวางที่ ธ.ก.ส.เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 แต่โครงการนี้ออกมาได้เพียง 3 เดือนแล้วปิดโครงการไป พร้อมทั้งขอให้นำโครงการนี้ขยายพื้นที่ช่วยเหลือผู้เลี้ยงช้างในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง สุรินทร์ และชลบุรี เพื่อเป็นทางเลือกและทางรอดในการต่อลมหายใจให้ปางช้างได้กลับมาเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง
นายคุณากร กล่าวอีกว่า กมธ.ที่ดินฯ ได้ทำ 6 ข้อเสนอถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมแล้ว เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบช้างตกงาน ได้แก่ 1.จัดหาที่ดิน เช่น ป่าชุมชนหรือป่าเสื่อมโทรมให้ช้างอยู่ชั่วคราว รวมทั้งให้เช่าที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลูกอาหารสำหรับช้าง 2.ทำใบเคลื่อนย้ายช้างกรณีช้างตกงานอพยพจากพื้นที่ธุรกิจท่องเที่ยวกลับคืนถิ่นฐาน 3.เร่งรัดการจดทะเบียนตั๋วรูปพรรณลูกช้างเกิดใหม่ป้องกันช้างเถื่อน 4.ทบทวนการลดหย่อนภาษีให้กับภาคเอกชน เช่น องค์กรทางธุรกิจ และมูลนิธิต่างๆ ที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือและดูแลช้างตกงาน 5.ขอให้กรมปศุสัตว์จัดตั้งทีมหมอช้างให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีช้าง จัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยไว้ดูแลช้างในยามฉุกเฉิน และ 6.ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการสำหรับเสนอของบประมาณที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาช้างตกงาน ทั้งนี้ หวังว่าจะได้รับการเหลียวแลเร่งแก้ปัญหาช้างและควาญช้างตกงานอย่างเร่งด่วน.
นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน พร้อมด้วยนายนพ นายคุณากร น.ส.จิราพร แล ะน.ส.ชญาภา ร่วมขี่ช้างในวังช้างอยุธยา แล เพนียด เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนในวังช้างอยุธยา แล เพนียด ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัย เปิดให้บริการท่องเที่ยวชมเมืองเก่าอยุธยาแล้ว ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: