พระนครศรีอยุธยา-sacit หรือ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) มุ่งขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมไทย สู่ความยั่งยืนในทุกมิติ เน้นย้ำ ภารกิจสำคัญ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม บูรณาการทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุม สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพให้แก่ผู้สร้างสรรค์ ควบคู่การสร้างคุณค่าในงานศิลปหัตถกรรมไทย
นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยว่า sacit หรือ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจในด้านการยกระดับงานศิลปหัตถกรรมไทยโดยเฉพาะ มีขอบเขตการทำงานและภารกิจที่กว้างขึ้น โดยดูแลผู้ประกอบการด้านศิลปหัตถกรรมไทยทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีบทบาทการดำเนินงาน 3ด้าน คือ สืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริม งานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน
ด้านการสืบสาน เพื่อให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้สูญหายไป โดยผ่านกิจกรรมสำคัญในการยกย่องเชิดชูกลุ่มผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งได้คัดเลือกเป็นประจำทุกปี นำมายกย่องเชิดชูให้เป็นที่รู้จัก สร้างพื้นที่ทางการตลาดต่างๆ ให้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและทักษะเชิงช่างให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
ด้านการสร้างสรรค์ เพื่อให้เหมาะกับยุคสมัยและกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มที่ต้องการงานดั้งเดิม ชื่นชอบในอัตลักษณ์ของงานศิลปหัตถกรรมก็ยังคงรักษาไว้ สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็ให้มีการสร้างสรรค์ทั้งในเรื่องของงานดีไชน์และบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามตอบโจทย์การใช้งานคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตแต่ให้คงไว้ซึ่งจุดเด่นของงานศิลปหัตถกรรมไทยเช่นเดิม
ด้านการส่งเสริม มุ่งเน้นด้านการตลาดที่ครอบคลุมทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การทำแพลตฟอร์มจำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมในรูปแบบออนไลน์ต่างๆ อาทิ sacitshop.com , sacitshopApplication หรือการจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็นงาน sacit เพลินคราฟต์ ,sacit Craft Fair , งานอัตลักษณ์แห่งสยาม และ Craft Bangkok ที่เป็นงานใหญ่ของ sacit เป็นต้น
นอกจากนี้ sacit ยังมีการดำเนินงานอื่นๆ เพื่อการสร้างกระแสให้คนรุ่นใหม่หันมาใช้งานหัตถกรรมไทยเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ Friend of sacit ที่เป็นศิลปิน ดารา ชื่อดังระดับประเทศ มาเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ในการส่งเสริมการใช้งานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เกิดความสนใจ เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการเลือกซื้อและเลือกใช้งานศิลปหัตถกรรมไทยในชีวิตประจำวัน โดยสร้างการรับรู้และสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียใหม่ๆ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน และอีกกิจกรรม คือ การประกวดผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาส่งผลงานการออกแบบตัดเย็บชุดจากผ้าไทย และส่งผลงาน เข้ามาร่วมประกวดซิงเงินรางวัล และมีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจกับแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำระดับประเทศ โดยเป็นการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้มาลองเรียนรู้ในกระบวนการและขั้นตอนของการสร้างสรรค์ รับรู้ในคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมไทย และได้ทำงานร่วมกันกับช่างฝีมือและชุมชนผู้ผลิต
สุดท้ายนี้ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่ sacit ได้รับผลคะแนน ITA ปี 2565 ภาพรวมหน่วยงาน 90.13 คะแนน หรือ ระดับผลการประเมิน : A ซึ่งได้คะแนนดีขึ้นทุกปี โดยปี 2564 ได้ 86.77 คะแนน ปี 2563 ได้ 83.14 คะแนน และมีลำดับดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานภายนอก คือ อยู่ในอันดับที่ 44 จากกลุ่มองค์การมหาชนทั้งหมด 57 หน่วยงาน (ปี 2564 มีทั้งหมด 55 หน่วยงาน อยู่อันดับที่ 54) , อยู่ในอันดับที่ 28 จากกลุ่มองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งทั้งหมด 35 หน่วยงาน (ปี 2564 อยู่อันดับที่ 35 ท้ายสุด) และอยู่ในอันดับที่ 9 จากกลุ่มกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด 12 หน่วยงาน (ปี 2564 อยู่อันดับที่ 12 ท้ายสุด)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: