พระนครศรีอยุธยา-ผู้ว่าฯ-นายกอบจ. ติดตามสถานการณ์น้ำที่เขื่อนพระรามหก เน้นย้ำ ต้องแจ้งเตือนประชาชนให้เร็วที่สุดหากจะเร่งระบายน้ำเพิ่ม
วันที่ 26 สิงหาคม นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายกฤษณ์ แก้วทองหลาง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา พ.อ.ภัทราวุธ ทิพโกมุท รอง ผอ.รมน.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายเดชาธร เชาว์เลขา นายอำเภอท่าเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่เขื่อนพระรามหก โดยกรมชลประทานได้คาดการณ์ปริมาณน้ำ ที่จะเกิดจากปริมาณฝนที่ตกลงมา ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) คาดว่าจะมีปริมาณน้ำท่าไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในระหว่างวันที่ 24 -30 สิงหาคม 2565 นี้ รวมประมาณ 133.26 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) จะทำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำประมาณ 355 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการรองรับน้ำเหนือทำให้ กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 นี้ เป็นต้นไป เมื่อปริมาณน้ำไหลลงไปรวมกับน้ำที่มาจากคลองชัยนาท – ป่าสักแล้ว กรมชลประทาน จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 600 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานแจ้งเตือนประชาชนอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก โดยเร็วที่สุดเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และได้ประสานกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดสำคัญต่างๆทั้ง 16 อำเภอเพื่อลดผลกระทบที่ดีจะเกิดขึ้นกับประชาชนรวมถึงเตรียมกระสอบทรายไว้คอยช่วยเหลือประชาชนและหน่วยงานต่างๆโดยสามารถติดต่อได้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยานอกจากนี้ยังเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้คอยช่วยเหลือพี่น้องประชาชนหากเกิดเหตุฉุกเฉินอีกจำนวน 15 เครื่องพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือประชาชนทันทีเมื่อมีการร้องขอ
จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพร้อมคณะได้ลงพื้นที่บริเวณด้านหน้าเทศบาลตำบลท่าเรือพร้อมสั่งการให้นายอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานกับผอ.สำนักชลประทานที่ 10 เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุดพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด
ข่าวน่าสนใจ:
- ลำปางเปิดสมัครรับเลือกตั้ง อบจ.ลำปางคึกคัก “ตวงรัตน์” อดีตนายกฯ ได้เบอร์ 2 “ดาชัย” โผล่ท้าชิงเก้าอี้อีกสมัยได้เบอร์ 1 อีกสองคนได้ 3 -เบอร์ 4
- รับสมัคร นายก อบจ.มหาสารคาม "คมคาย"ตัวเต็งจับมือ"อ้ายเปิ้ล"สัญญาสู้กันในเกมส์
- สงขลา ผู้ว่าฯ สงขลา เยี่ยมเหยื่อถูก อส.กราดยิง สั่งดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด พร้อมเข้มการพกพาอาวุธ
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ในช่วงวันที่ 15 – 21 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำป่าสักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และจากการคาดการณ์ปริมาณฝน ในช่วงวันที่ 24 – 30 สิงหาคม 2565 คาดว่าจะมีปริมาณน้ำท่าไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมจำนวน 133.26 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีจำนวน 355 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ และเพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการรองรับน้ำเหนือในช่วงถัดไป กรมชลประทานจะเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตราวันละ 34.56 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 43.20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป เมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท – ป่าสักแล้ว จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร เมื่อรวมปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จะส่งผลให้ระดับน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ แจ้ง 5 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น โดยดำเนินการจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตลอดจนแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วน
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 24 สค นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายกฤษณ์ แก้วทองหลาง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา พ.อ.ภัทราวุธ ทิพโกมุท รอง ผอ.รมน.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิทยา เขียวรอด นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จุดวัดน้ำที่แรก พระตำหนักสิริยาลัย จุดที่2 วัดไชยวัฒนาราม และจุดที่3 วัดกษัตราธิราชวรวิหาร โดยเขื่อนเจ้าพระยา จะทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำจากอัตรา 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 1,550 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ เริ่มตั้งเเต่วันที่ 24 ส.ค.65 เวลา 13.00 น. โดบเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 15 , 15 และ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อระดับน้ำถึงเกณฑ์กำหนดให้คงไว้ต่อเนื่อง ซึ่งการระบายน้ำในครั้งนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อยเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเพิ่มสูงขึ้นในวันที่ 25 สค นี้ ประมาณ 10 ซม ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนริมตลิ่ง
นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งดังกล่าว ประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบบางพื้นที่แล้ว เนื่องจากน้ำมีปริมาณที่สูงขึ้น และเริ่มเอ่อล้นท่วมถนนภายในหมู่บ้านบางพื้นที่ แต่ก็ยังสัญจรไป – มาได้ ประชาชนยังดำเนินวิถีชีวิตของบ้านริมแม่น้ำ ใต้ถุนสูง มีเรือทุกบ้าน พร้อมมีไม้กระดานวางเพื่อเดินเข้าบ้าน โดยทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้สั่งการให้ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง พื้นที่สำคัญแบ่งเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตพระราชฐาน โบราณสถาน และวัดที่สำคัญ พื้นที่เขตเศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ พื้นที่ชุมชนหนาแน่น เขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง นอกจากนี้ ได้ตั้งวอร์รูมและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ หากประชาชนได้รับผลกระทบสามารถขอรับความช่วยเหลือ โทรสายด่วน 1784 รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจ สถานที่ท่องเที่ยว และถนนหนทางภายในจังหวัดฯ ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด นักท่องเที่ยวสามารถมาท่องเที่ยวไหว้พระ รับประทานกุ้งเผาร้านอาหารริมน้ำได้ตามปกติ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: