พระนครศรีอยุธยา-‘หมอชลน่าน’ ดัน ‘มินิธัญญารักษ์’ รพ.อุทัย แก้ปัญหายาเสพติด เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย หลังคนเสพสมัครใจบำบัด สูงสุดอันดับ 7 ของประเทศ
วันที่ 19 เมษายน 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สธ. และ นางสาวณัฐณิชา บุรณศิริ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วยราชการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน ตรวจความพร้อมและแก้ปัญหาผู้ป่วยยาเสพติดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดที่มินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลอุทัย และชุมชนล้อมรักษ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล รพ.สต.ลุมพลี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีนายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณะสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อสม.และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งลดความรุนแรงจากภัยยาเสพติดอย่างเป็นระบบและเห็นผลเป็นรูปธรรม ตามแนวทาง “ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” กระทรวงสาธารณสุขจึงบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระบบคัดกรอง บำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดให้ครอบคลุมทุกระดับความรุนแรง เพื่อคืนคนสู่สังคมอย่างปลอดภัย โดยทีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความพร้อมทั้งบุคลากรที่มีความสามารถและมีพื้นที่พร้อมสำหรับการดำเนินงานเป็นผลสำเร็จอย่างดี โดยแยกผู้ป่วยป็น 4 กลุ่มสี สีแดงที่มีภาวะวิกฤตด้านจิตเวชและยาเสพติด มีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) รวม 2 แห่ง ผู้ป่วยสีส้ม ที่พ้นภาวะวิกฤตแล้ว มีมินิธัญญารักษ์ รพ.วังน้อย ให้การบำบัดระยะกลาง (Intermediate care) ผู้ป่วยสีเหลือง ที่ไม่มีปัญหาซับซ้อน จะมีมินิธัญญารักษ์ รพ.อุทัย ให้การบำบัดระยะยาว (Long Term Care) ส่วนผู้ป่วยสีเขียว ที่เป็นผู้ใช้ยาเสพติด จะใช้การบำบัดโดย “ชุมชนล้อมรักษ์” ที่เป็นกระบวนการบำบัดโดยชุมชนมีส่วนร่วม (CBTx) ซึ่งมีครบทุกอำเภอ รวม 43 แห่ง ถือเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จในการแก้ปัญหายาเสพติด
นอกจากนี้ ยังจัดตั้งศูนย์คัดกรองผู้ติดยาเสพติด 213 แห่ง ครอบคลุมทุกตำบล ตั้งแต่ปี 2566 – ปัจจุบัน คัดกรองผู้ป่วยทั้งหมด 4,380 ราย พบเป็นกลุ่มสีแดง 120 ราย สีส้ม 1,314 ราย สีเหลือง 2,185 ราย และสีเขียว 761 ราย การทำงานของชุมชนล้อมรักษ์ โดยเครือข่าย 5 เสือ คือ ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และหน่วยงานสาธารณสุข
สำหรับมินิธัญญารักษ์ รพ.อุทัย ถือเป็นต้นแบบของมินิธัญญารักษ์ที่น่าสนใจ แม้จะเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนมกราคม 2567 โดยสมารถรับเฉพาะผู้ป่วยชาย จำนวน 8 เตียง ให้การบำบัดระยะยาว ใช้ระยะเวลาประมาณ 90-120 วัน และติดตามต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 ปี ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรวม 11 ราย ผู้ป่วยกลับสู่ชุมชนแล้ว 5 ราย ทุกรายสามารถประกอบอาชีพช่วยเหลือครอบครัว มีรายได้ 300-500 บาทต่อวัน โดยจากการติดตาม พบว่าผู้ป่วยไม่กลับไปเสพซ้ำ 3 ราย ส่วนอีก 2 รายยังต้องติดตามดูแล กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่รักษาผู้ป่วย ต้องพยายามช่วยเหลือลูกหลานให้หายขาดจากยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด คืนลูกสู่อ้อมกอดครอบครัว ส่วนผู้ค้า จำหน่าย จ่ายแจก เป็นหน้าที่กระทรวงยุติธรรมดำเนินการปราบปรามอย่างเด็ดขาดให้ยาเสพติดหมดจากประเทศไทย ทั้งสองทางต้องทำคู่ขนานกัน “ นพ.ชลน่านกล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: