พระนครศรีอยุธยา- ททท.ชวนลอยกระทง อาบน้ำเพ็ญ เสริมสิริมงคลคืนพระจันทร์เต็มดวง เจ้าอาวาสเปิดวัดให้กราบถึงเที่ยงคืน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อพระประธานประจำพระอุโบสถว่า “พระพุทธสุวรรณวชิโรภาส ทศมินทราธิราชบพิตร”หมายความว่า พระพุทธปฏิมากร ทรงมีรัศมีแห่งทอง และเพชร อันพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10ทรงบูชา พระประธานประจำพระวิหารว่า “พระพุทธวชิรญาณบพิตร” หมายความว่า พระพุทธปฏิมากร อันพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ทรงสร้าง
พระเมธีวชิรธาดา เจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร กล่าวว่า ตามที่ทางวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา ได้ขอพระราชทานชื่อพระประธานประจำพระอุโบสถและพระวิหาร จำนวน 2 องค์ ซึ่งยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ และได้ทรงพระราชทานชื่อพระประธานประจำพระอุโบสถว่า “พระพุทธสุวรรณวชิโรภาส ทศมินทราธิราชบพิตร” อ่านว่า พระ-พุด-ทะ-สุ-วัน-วะ-ชิ-โร-พาด-ทะ-สะ-มิน-ทรา-ทิ-ราด-บอ-พิด หมายความว่า พระพุทธปฏิมากร ทรงมีรัศมีแห่งทอง และเพชร อันพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ทรงบูชา
และพระราชทานชื่อ พระประธานประจำพระวิหารว่า “พระพุทธวชิรญาณบพิตร” อ่านว่า พระ-พุด-ทะ-วะ-ชิ-ระ-ยาน-บอ-พิด หมายความว่า พระพุทธปฏิมากร อันพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ทรงสร้าง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นสิริมงคลแก่พสกนิกรชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอย่างยิ่ง
โดยเมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2567 เวลา 17.00 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ภายหลังถวายผ้าพระกฐินแล้ว ทรงเสด็จฯ ไปทรงเททองหล่อพระพุทธสุวรรณวชิโรภาส ทศมินทราธิราชบพิตร (จำลอง) ด้วย ซึ่งทางวัดจะได้เปิดให้พุทธศาสนิกชน ได้เข้ากราบสักการะพระประธานทั้งสององค์ตั้งแต่เวลา 7.00 น.ถึง 17.00 น.ทุกวัน และในวันลอยกระทง 15 พ.ย.2567 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จะได้ย้ายสถานที่ลอยกระทงจากใต้สะพานปรีดี เนื่องจากมีการซ่อมแซมสะพานอยู่ มาเป็นท่าน้ำวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ทางวัดจึงจะจัดเตรียมสถานที่ให้ประชาชน ได้เข้ากราบสักการะพระประธานทั้งที่พระอุโบสถและวิหารตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืน ทั้งนี้จะจัดเตรียมน้ำมนต์อาบเพ็ญ ซึ่งเป็นน้ำที่เข้าร่วมในพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ สำหรับให้ประชาชนเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยสามารถนำรถมาจอดได้ภายในวัด
ด้านนายณัฐปคัลภ์ อัครวิชญ์ ผ.อ.ททท.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยู่ในเขตพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองเป็นวัดที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจมาดูภาพจิตรกรรมที่ฝาผนังในวิหาร ซึ่งเป็นภาพเขียนสีน้ำมันฝีมือของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตร เป็นภาพ เรื่องพระราชพงศาวดารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพเขียนที่มีความเหมือนจริงมีใบหน้า ร่างกายกล้ามเนื้อและสัดส่วนต่างตามสรีระของบุคคลจริง อันมีอิทธิพลมาจากตะวันตกและได้นำมาประยุกต์ใช้ในจิตรกรรมไทย ซึ่งเชื่อว่าเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย ในช่วงวันลอยกระทงซึ่งทางวัดได้จัดให้มีการลอยกระทงนับเป็นโอกาสที่ดีที่นักท่องเที่ยวและประชาชนจะได้มากราบสักการะพระประธานทั้งสององค์ ที่สำคัญจะได้น้ำมนต์ที่ทางวัดจัดเอาไว้เพื่อให้เป็นสิริมงคล นำไปปะพรมศรีษะ หรือผสมอาบที่เรียกว่า”อาบเพ็ญ” ซึ่งจะมีความเป็นมงคลมากยิ่งขึ้น
ประวัติ วัดสุวรรณดาราราม ตั้งอยู่ภายในกำแพงกรุงศรีอยุธยาทางทิศใต้ ริมป้อม เพชรตำบลหอรัตไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา บิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สร้าง “วัดทอง”ขึ้นใกล้กับบริเวณนิวาสถานเดิม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2310 พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก วัดทองก็ถูกพม่าทำลายกลายเป็นวัดร้างมานานถึง 18 ปี ครั้นใน พ.ศ.2325 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกและสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแล้ว ต่อมาใน พ.ศ.2328 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์วัดทองที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่กรุงแตกใหม่ทั้งอาราม ในการปฏิสังขรณ์และการก่อสร้างครั้งนี้ กรมพระราชวังบวรมหาสุร สิงหนาท พระอนุชาได้ทรงร่วมปฏิสังขรณ์และก่อสร้างพระอุโบสถ พระเจดีย์ และหมู่กุฏิทั้งหมดด้วย เมื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จพระองค์ได้พระราชทานนามใหม่ตามชื่อของพระราชบิดา(ทองดี)และพระราชมารดา(ดาวเรือง)ว่า “วัดสุวรรณดาราราม”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต พระมหากษัตริย์รัชกาลต่อมาแห่งราชวงค์จักรี ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ต่อมาเป็นลำดับ มีการก่อสร้างพระวิหารเจดีย์ กำแพงแก้ว และปูชนียสถานอื่นๆภายในพระอารามแห่งนี้ นับได้ว่าวัดสุวรรณดาราเป็นพระอารามแห่งราชวงศ์จักรีโดยแท้ และเป็นวัดที่สวยงามมีสง่าน่าชมยิ่งนัก จุดน่าสนใจ พระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่นี้ สิ่งที่สวยงามสะดุดตาก็คือ หลังคาพระอุโบสถประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ หน้าบันทำด้วยไม้สัก แกะสลักลายกนกเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปิดทองประดับกระจกตลอด เฉพาะคันทวยที่ประดับรับเชิงชายคาพระอุโบสถทุกตัว ได้แกะสลักเป็นรายนกพันรอบทวย ลวดลายอ่อนช้อยงดงามยิ่งนักรูปทรงพระอุโบสถภายนอกเป็นรูปทรงเรือสำเภาซึ่งนับเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ที่ยังเหลือไว้ให้ได้ศึกษาภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานซึ่งจะลองขยายส่วนจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระแก้วมรกต (พระแก้วมรกต) วัดพระศรีรัตนศาสดารามรูปทรงงดงาม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบเหนือพระรัตนบัลลังก์ที่ประดับกระจกสีด้านซ้าย และขวาเป้นที่ประดิษฐานนพดลมหาเศวตรฉัตรเพดานพระอุโบสถเป็นไม้จำหลักลายดวงดาราบนพื้นสีแดง ลงรักปิดทองประดับกระจกตรงกลางเป็นดาวประธาน ล้อมรอบด้วยดาวบริวาร 12 ดวง ภายในกรอบย่อมุมไม้สิบสองวิหารมีลักษณะเป็นอาคารเครื่องก่อ ด้านหลังมีเจดีย์ใหญ่ โครงสร้างพระวิหารเหมือนกับอุโบสถแต่ไม่มีคันทวย และหน้าบันเป็นรูปช้างเอราวัณยืนแท่น ทูนแว่นฟ้า บนพานมีฉัตร 5 ชั้นภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปโลหะลงรักปิดทอง มีเรือนแก้วแบบเรือนแก้วพระพุทธชินราช แต่เป็นจำหลักเขียนสีปิดทองสิ่งสำคัญภายในวัดซึ่งถือว่ามีคุณค่าควรแก่การดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี นั้นก็คือภาพจิตรกรรมฝาฝนังในพระอุโบสถ และพระวิหาร โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถซึ่งมีอายุกว่า 200 ปี โดยได้รับความอุปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตอนต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเขียนเรื่องพุทธประวัติ ไตรภูมิ ทศชาติชาดก การลำดับภาพคือฝาผนังด้านข้างแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนบนเหนือขอบหน้าต่าง เขียนภาพเทพชุมนุม 2 ชั้นชั้นละ 16 องค์ ชั้นบนเป็นรูปเทพ ชั้นล่างเป็นรูปเทพและยักษ์ซึ่งเทพชั้นนี้ถือเป็นเทพชั้นต่ำสุดเทพทุกพระองค์พนมมือหันหน้าไปทางองค์พระประธานภาพส่วนล่าง ที่ห้องภาพระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพเรื่องทศชาติชาดกส่วนฝาผนังด้านหน้าเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนมารวิชัย มีขนาดใหญ่เต็มผนัง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: