X

ชาวบ้านฮือทวงคืนหัวเสาตะลุง ผ.อ.ยันย้อนยุคอนุรักษ์ฯ          

พระนครศรีอยุธยา-ผ.อ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ย้ำตัดเสาตะลุงอนุรักษ์ฯ แบบดั้งเดิม ยอมรับที่ผ่านมาซ่อม 3 ครั้งไม่อิงหลักฐาน วัฒนธรรมจังหวัดฯร่วมชาวบ้านทวงคืนของเก่า

จากกรณีที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเพนียดคล้องช้าง ม.3 ต.สวนพริก  อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา  ซึ่งชาวบ้านพบว่าการบูรณะซ่อมแซมครั้งนี้  มีการตัดหัวเสาตะลุงที่อยู่ด้านนอกเพนียดหรือที่เรียกว่าปีกกาออกทั้งหมด ทำให้สภาพของเพนียดคล้องช้างเปลี่ยนไป แลดูไม่สวยงามเหมือนที่ผ่านมา จนเกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์กันอย่างหนักถึงการตัดหัวเสาตะลุงครั้งนี้

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 27 พค  นางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เดินทางไปบริเวณเพนียดคล้องช้าง เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าการบูรณะซ่อมแซม และชี้แจงสาเหตุของการตัดหัวเสาตะลุง โดยมีชาวบ้านจำนวนมากมารอคอย ซึ่งมี ดร.จิระพันธ์ พิมพ์พันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายมนัส ทรัพย์มีชัย ตัวแทนมูลนิธิพระคชบาล นางยองใย เกษมศรี ณ อยุธยยา นายนิวัฒน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานและรองประธานชมรมทำดีเพื่อแผ่นดิน มาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าการดำเนินการซ่อมแซมบูรณะเพนียดคล้องช้างครั้งนี้ ใช้งบประมาณ 30 กว่าล้านบาท และยึดถือหลักฐานที่พบเป็นภาพถ่ายจากชาวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทย ก่อนรัชกาลที่ 5 โดยเห็นว่าด้านนอกของเพนียดคล้องช้างเสาตะลุงไม่มีหัว จึงได้ทำการซ่อมแซมตามหลักฐานที่พบ ส่วนที่ผ่านมาการบูรณะซ่อมแซมมาต่อเนื่อง 3 ครั้ง ทางผู้รับเหมาได้สร้างตามหลักฐานคือเสาตะลุงที่หลงเหลืออยู่เดิมมีหัวมัณท์หรือหัวบัว จึงได้ทำการซ่อมแซมทั้งด้านนอกด้านใน และซ่อมต่อเนื่องมา ไม่ได้ยึดภาพเหมือนการซ่อมครั้งนี้ ซึ่งทางกรมศิลปากรต้องการที่จะย้อนไปถึงสภาพเดิมที่เคยมี ซึ่งยืนยันว่าทำตามหลักฐานที่พบ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ส่วนการที่ชาวบ้านมาคัดค้าน เป็นเรื่องที่ทำได้ และเป็นเรื่องดีที่เห็นความรัก ความหวงแหนของคนรอบโบราณสถาน อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ทางกรมศิลปากรได้อธิบายชี้แจง

หลังจากที่นางสาวสุกัญญา ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พยายามชี้แจงเป็นเวลานานกว่า 20 นาที ท่ามกลางเสียงตะโดนของชาวบ้านที่ไม่รับฟัง เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นว่ากรมศิลปากรพยายามที่จะทำลายความรู้สึกของชาวบ้าน จึงเรียกร้องให้ซ่อมแซมให้เสาตะลุงมีหัวเหมือนเดิม อีกทั้งเห็นว่าหากทางกรมศิลปากรไม่แก้ไข ก็จะทำการร้องเรียนไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สตง. ปปช.และร้องไปยังนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเรียกร้องให้ย้ายผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ออกไปด้วย

ต่อมานายสันติ ขันธนิกร ตัวแทนชาวบ้านรอบเพนียด ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านดร.จิระพันธ์ พิมพ์พันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ นายมนัส ทรัพย์มีชัย ตัวแทนมูลนิธิพระคชบาล ในการยื่นไปยังจังหวัดฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยดร.จิระพันธ์ กล่าวว่า ไม่ว่าทางอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จะชี้แจงอย่างไรขณะนี้ ชาวบ้านไม่รับฟัง เนื่องจากได้ทำให้ชาวบ้านเสียความรู้สึก ทั้งนี้เนื่องจากตลอดทั้งชีวิตชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นแต่เสาตะลุงที่มีหัวตลอดมา ซ่อมกี่ครั้งก็มีหัว ชาวบ้านจึงจดจำแต่ภาพของเสาตะลุงที่มีหัว ที่สำคัญการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและการที่ยูเนสโก้ ยกย่องเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2535 ทุกหน่วยงานก็จะเห็นว่าเสาตะลุงมีหัวทั้งนั้น การซ่อมแซมเวลาต่อมาในวันนี้ จะดัดแปลงแก้ไขย้อนไปอีก ก็คงจะไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ตนจะสอบถามไปยังกรมศิลปากร และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้เข้ามาดูแล

นายนิวัฒน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบการซ่อมแซมบูรณะเสาตะลุง ก็พบว่ามีความพยายามที่จะทำเป็นเสาที่มีหัวบัวด้านใน แต่ไม่ชัดเจน อีกทั้งด้านนอกก็ยังตัดหัวบัวออกไป ทั้งที่ยอมรับว่าของเก่าก็มี ไม่ควรที่จะตัด  ทั้งนี้ยังมีความเชื่อว่าเสาโดยรอบนั้น เป็นตัวแทนเทพที่ปกปักรักษาเพนียดคล้องช้างด้วย ในฐานะชมรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการรักษาและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดี ก็จะนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ระงับการซ่อมบำรุงก่อน ทั้งนี้การซ่อมอะไรก็ตามต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมอันดี และความรู้สึกของคนในชุมชน ยิ่งในรัชกาลปัจจุบัน พระองค์ได้เน้นการต่อยอด การซ่อม เสริมที่ไม่ได้มุ่งการทำลายให้เสียหาย

ต่อมาชาวบ้านได้พากันไปชุมนุมชูป้ายคัดค้านและจุดธูปเพื่อขอขมาอภัยอีกทั้งสาปแช่งผู้ที่เปลี่ยนแปลงสภาพของเพนียดคล้องช้างและตัดหัวเสาตะลุง พร้อมทั้งเรียกร้องให้กรมศิลปากรแก้ไขให้เหมือนเดิม ขณะที่ผู้สื่อข่าวพบว่าเสาตะลุงหลายต้นจำนวนมาก เป็นเสาเก่าที่ได้นำไปทำให้มีขนาดเล็กลง ด้วยการปลอกเปลือกไม้ กลึงและทางสี นำไปลงหลุมเพื่อดูเป็นของใหม่ อีกทั้งบางต้นยังได้กลับเอาหัวเสาลงไป ทำการเทปูนกลบ ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นการลบหลู่เสาตะลุงอย่างมาก โดยทางอุทยานฯไม่ระบุว่างบประมาณ 35 บาทนั้นได้มีการใช้ไม้ใหม่จำนวนเท่าใด หรือนำเสาเก่ามาตัดหัวทำใหม่จำนวนเท่าใด อีกทั้งยังมีการซ่อมแซมไม่ตรงกับความเป็นจริงหลายจุด ซึ่งชาวบ้านจะทำการร้องเรียนเพื่อตรวจสอบต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต การเมืองการปกครองท้องถิ่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา ปริญญาบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทร.สุวรรณภูมิ ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา รางวัลพระราชทานเทพทอง สมาคมนักวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นักเรียนการแสดง รัชฟีล์มที่วี artspa ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์เคเบิลเอทีวี บรรณาธิการเจ้าของเพจสถานีข่าวเอทีวี นักเขียนอิสระ