X

ระดมทุนซื้อไม้แกะหัวเสาตะลุง เรียกร้องสตง.ตรวจงบประมาณ

 

ชาวบ้านรวมตัวเรี่ยไรเงินซื้อไม้สักทำเสาตะลุงเอง เรียกร้องให้ สตง.ตรวจสอบการใช้งบประมาณสูงเกินจริง เจ้าของวังช้างอยุธยายันไม่มีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง จัดประชาคมทวงคืนหัวเสา

จากกรณีที่กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเพนียดคล้องช้าง และเกิดปัญหาความไม่พอใจของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป เนื่องจากการบูรณะครั้งนี้ ผู้รับเหมาได้ทำการตัดหัวเสาตะลุง อีกทั้งบางต้นยังมีการกลับหัวเสาลงดิน โดยอ้างว่าเป็นการซ่อมแซมตามหลักฐานภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ทั้งที่การซ่อมแซมผ่านมาสามครั้ง กรมศิลปากรซ่อมแซมมีหัวบัวมาโดยตลอด สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างมาก ตามที่เสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่อง

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 9 มิ.ย. นายสันติ ขันธนิกร อบต.สวนพริก นายลายทองเหรียญ มีพันธ์ ประธานมูลนิธิพระคชบาล นายนัสซอ เลิศศิริ และตัวแทนชาวบ้านรวมกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันที่บริเวณข้างตำหนักเพนียดคล้องช้าง ม.3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงไม้เพื่อทำเสาตะลุงและหัวบัว โดยมีการบวงสรวงเทพยาดาที่สิงสถิตย์ในต้นสัก และบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นศิริมงคล โดยมีการนำไม้สักจำนวน 2 ต้นมาประกอบพิธี  ซึ่งหลังจากประกอบพิธีแล้ว ประชาชนได้ผลัดกันใช้ขวานจากที่เปลือกไม้ด้านบน จากนั้นได้ช่วยกันปลอกเปลือกไม้ และเลื่อยตัดเอาเนื้อไม้ในส่วนที่ยื่นออกมา จากนั้นเป็นการแกะสลักตัวเสาตะลุง  เพื่อให้เป็นหัวบัว

นายลายทองเหรียญ มีพันธ์ ประธานมูลนิธิพระคชบาล เปิดเผยว่าไม้ที่นำมาประกอบพิธีวันนี้เป็นไม้สักขนาดยาว 4 เมตร เส้นรอบวงประมาณ 1.25 เมตร เป็นไม้ที่ปลูกในสวนป่าเอกชน มีอายุกว่า 30 ปี ชาวบ้านได้รวบรวมเงินกันไปซื้อมาจำนวนสองต้น เพื่อที่จะทำการแกะหัวเสาตะลุงตามวิธีแบบโบราณ  ทั้งนี้เพือที่จะเป็นการสาธิตการแกะหัวเสาตะลุง และยังเป็นการเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐได้ทำการตรวจสอบงบประมาณ การซ่อมเพนียดคล้องช้างด้วย เนื่องจากต้องการให้เห็นว่างบประมาณในการซ่อมบำรุงเสาเพนียดแต่ละต้นนั้นมีราคาสูงเพียงใด ซึ่งหากซื้อไม้ใหม่มาทำทั้งหมด ก็ยังใช้เงินต้นละไม่เท่าไหร่

นอกจากนี้นายลายทองเหรียญ ยังกล่าวด้วยว่า ตนได้เข้ามาทำธุรกิจเรื่องช้างเป็นเวลากว่า 20 ปี และมีการขออนุญาต และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเช่นกรมศิลปากร ซึ่งหากคิดว่าตนบุกรุกที่ดินของกรมศิลปากร ก็มาตรวจ สอบได้ ที่สำคัญตนไม่ได้มีเรื่องของการเสียผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

นายนัสซอ เปิดเผยว่าตนเป็นอดีตช่างกลึงหัวเสาตะลุง เมื่อปี 2530 ดีใจที่มีโอกาสได้มาแกะหัวเสาตะลุงอีครั้ง ซึ่งขั้นตอนหลังจากที่ทำการบวงสรวงแล้ว ได้ทำการหาความสมดุลย์ศูนย์กลางของไม้เพื่อที่จะวางแนวการแกะ โดยเบื้องต้นหัวบัวที่จะแกะนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 11 นิ้ว และความสูงของหัวบัวจากยอดลงมาที่ตัวเสา 19 นิ้ว ซึ่งการปรับสภาพของไม้แล้ว จะทำการแกะสลักขึ้นรูปหัวบัว ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงก็จะเป็นรูปร่างได้

ดร.ดุลย์พิชัย โกมลวานิช นักวิชาการอิสระ แสดงความคิดเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและกรมศิลปากร เป็นเรื่องที่กรมศิลปากรได้สร้างชุดความจำให้กับชาวบ้านได้จดจำเป็นภาพของเสาตะลุงมีหัวมาตลอด จู่ๆก็จะมาลบล้างความคิดของชาวบ้าน คงเป็นเรื่องยากมาก จึงขอให้กรมศิลปากรพิจารณาให้ดี

นายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย ตัวแทนมูลนิธิพระคชบาล และผู้ประสานชาวบ้านทวงคืนหัวเสาตะลุง เปิดเผยว่าในวันที่ 10 มิ.ย.จะมีการทำประชาคมที่เพนียดคล้องช้างเวลา 17.00 น.โดยมีตัวแทนของกรมศิลปากรมารับฟังและรวบรวมความเห็นของประชาชน เพื่อนำไปให้กับกรมศิลปากรได้รวบรวมพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต การเมืองการปกครองท้องถิ่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา ปริญญาบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทร.สุวรรณภูมิ ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา รางวัลพระราชทานเทพทอง สมาคมนักวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นักเรียนการแสดง รัชฟีล์มที่วี artspa ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์เคเบิลเอทีวี บรรณาธิการเจ้าของเพจสถานีข่าวเอทีวี นักเขียนอิสระ