X

กรมศิลปากร”ปรอทแตก”ไล่วังช้างเก็บของใน 30 วัน

พระนครศรีอยุธยา-ชาวบ้านทวงคืนหัวเสาตะลุง กรมศิลปากรฟาดหาง ไล่วังช้างย้ายใน 30 วัน “ลายทองเหรียญ”ฮึดสู้ ชูหลักฐานเช่ามานาน 24 ปี เชื่อเหตุไม่พอใจตรวจสอบงบประมาณซ่อมเพนียด

ในที่สุดกรมศิลปากรก็ฟาดหางใส่”วังช้างอยุธยาแลเพนียด”สถานที่ท่องเที่ยวหลัก ใจกลางเมืองประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หลังจากที่ถูกชาวบ้านทวงคืน”หัวเสาตะลุง” ถึงขั้นเผาพริกเผาเกลือสาปแช่ง เร่งไฟระอุให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง จนมีข่าวออกมาในวันที่ 19 มิ.ย.ว่านายอรุณศักดิ์  กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร ได้มีหนังสือถึงนายลายทองเหรียญ มีพันธ์ เรื่องสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการให้บริการช้างแก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยอ้างถึงสัญญาวันที่ 12 มกราคม 61ตามที่อ้างถึงสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้อนุญาตให้ดำเนินกิจการให้บริการช้างแก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นักตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2562 ซึ่งจะต่อสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการให้บริการช้างแก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาปีต่อปี และผู้รับอนุญาตชำระค่าตอบแทนเป็นรายเดือด เดือนละ 1 หมื่นบาทซึ่งบัดนี้สัญญาได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 กรมศิลปากรขอแจ้งให้ทางวังช้างอยุธยาแลเพนียดดำเนินการขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งจะต้องซ่อมแซม พื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยนับตั้งแต่วันที่รับหนังสือ โดยหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 5 มิ.ย.62

ความคืบหน้าวันที่ 19 มิ.ย.ช่วงบ่าย นายสุเทพ ชัยยะ กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนัสซอ เลิศศิริ อดีตนายช่างกลึงหัวเสาตะลุง พร้อมตัวแทนภาคประชาชน และชาวบ้าน ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา ได้เข้าพบนางศาริสา จินดาวงษ์ ผ.อ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เพื่อสอบถามความคืบหน้ากรณีจัดทำประชาสังคมความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการคัดค้านและเรียกร้องหัวเสาตะลุงเพนียดคล้องช้าง ซึ่งทาง ผ.อ.สำนักศิลปากรที่ 3 ชี้แจงว่าหลังจากที่จัดประชาสังคมภาคประชาชนไปนั้น ได้มีการถอดเทปและนำความคิดเห็นของบุคคลที่เป็นตัวแทนในการคัดค้านการตัดหัวเสาตะลุง นำไปมอบให้กับอธิบดีกรมศิลปากรแล้ว แต่ทางกรมศิลปากร หรืออธิบดียังไม่มีความคิดเห็นใดๆตอบกลับมา อีกทั้งยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการตอบกลับมาอย่างไรและเมื่อไหร่ ซึ่งบรรยากาศการซักถามเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด

นายสุเทพ กล่าวว่าชาวบ้านรู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากทางผู้รับเหมาได้ถอนเครื่องมือและเครื่องจักรออกไปจากเพนียดแล้ว สภาพที่เห็นคือเสาตะลุงหัวขาดที่ยืนเหมือนคนตาย ซึ่งพวกตนและชาวบ้านจะได้ทำหนังสือทวงถามต่อไปยังอธิบดีโดยตรง เพื่อขอความชัดเจนว่าจะมีการแก้ไขอย่างไรหรือไม่

ขณะเดียวกันนางศาริสา ผ.อ.สำนักศิลปากรที่ 3 ยังได้กล่าวถึงกรณีการมีหนังสือแจ้งให้วังช้างอยุธยาแลเพนียดย้ายออกไปจากเขตพื้นที่โบราณสถาน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทและแผนพัฒนาขององค์กรยูเนสโก้ในการปรับปรุงทัศนียภาพ บริเวณร้านค้าหลังวิหารพระมงคลบพิตร และบริเวณวังช้างอยุธยาแลเพนียด โดยให้ยึดถือตามหนังสือซึ่งให้ย้ายภายใน 30 วันซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีมาตรการออกมาอย่างไร หากยังไม่ย้ายออกไป

ด้านนายลายทองเหรียญ มีพันธ์ เจ้าของวังช้างอยุธยา ประธานชมรมพระคชบาลและเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งวังช้างอยุธยาแลเพนียด กล่าวว่ารู้สึกเสียใจและเสียความรู้สึกในการกระทำของกรมศิลปากร ทั้งที่ก่อนหน้านั้นตนได้เข้ามาอย่างถูกต้องมีการทำเรื่องขอเช่าพื้นที่มาทุกปี ตั้งแต่ปี 2553 โดยจ่ายให้กับอุทยานประวัติศาสตร์และธนารักษ์ ซึ่งไม่ใช่กรมศิลปากรเพิ่งมาให้เช่าเพียง 1 ปีแล้วหมดสัญญาให้ออกภายใน 30 วันอย่างที่แจ้ง แต่เป็นการเช่ามาตลอดเวลา 24 ปี ไม่ได้บุกรุก ซึ่งตนมีหลักฐานการเช่าและใบเสร็จรับเงินถูกต้อง เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เชื่อว่ามาจากการที่ทางศิลปากรมีการซ่อมบูรณะเสาตะลุงในเพนียดคล้องช้าง แล้วมีการทำที่ไม่ถูกต้องตนเคยท้วงไปเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ทางศิลปากรไม่ต่อสัญญา แล้วใช้เหตุนี้มาสั่งย้ายวังช้าง อีกทั้งยังมีสาเหตุเนื่องจากไม่พอใจที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องการตัดหัวเสาตะลุง และคิดว่าตนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งตนจะร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง และถึงเวลาที่จะต้องออกมาปกป้องทวงคืนหัวเสาตะลุงกับชาวบ้านด้วย ที่สำคัญช้างซึ่งเคยเป็นสัตว์ที่คู่กับอยุธยาได้กลับมาแล้ว และถึงแม้ว่าจะมีผลประโยชน์กับตนในทางธุรกิจ แต่ส่วนหหนึ่งก็ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการสร้างชื่อเสียงให้กับอยุธยาและประเทศไทย ในการร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะขอเรียกร้องความเป็นธรรม โดยเฉพาะที่อ้างว่าทำตามการทักท้วงของยูเนสโก้ ขอให้เอาหนังสือหรือคำสั่งมายืนยันว่าวังช้างอยุธยาทำให้ยูเนสโก้ไม่พอใจ ตนยินดีรับฟัง โดยเฉพาะในวังช้างอยุธยาและเพนียดที่เป็นหมู่บ้านช้างตรงไหนที่บอกรุกล้ำตนก็ยินดีปฏิบัติตาม

นายสุจินต์  ไชยชุมศักดิ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา   เปิดเผยถึงกรณีกรมศิลปากรขอให้วังช้างอยุธยาแลเพนียดย้ายออกจากพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์หลังหมดสัญญาเช่าว่า  เนื่องจากสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยามีความจำเป็นต้องปรับภูมิทัศน์และปรับปรุงมรดกโลกให้สง่างาม  ซึ่งเป็นแผนของกรมศิลปากรที่จัดทำไว้เป็นเวลานานแล้ว และเป็นการจัดระเบียบเหมือนกับร้านค้าหลังวิหารพระมงคลบพิตร  ดังนั้น  คงต้องเป็นเรื่องของกรมศิลปากรที่ต้องดำเนินการไปตามหน้าที่   อีกทั้ง วังช้างอยุธยาแลเพนียดก็ต้องรับทราบและดำเนินการตามที่สัญญาระบุไว้   ส่วนตัวคิดว่ากรมศิลปากรมีหน้าที่อนุรักษ์โบราณสถาน  มีหน้าที่จัดระเบียบ  ขณะที่ วังช้างฯ  ก็ต้องทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ให้มีความสง่างามควบคู่กันไป เพราะถือว่าช้างเป็นสัญลักษณ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  อย่างไรก็ตาม  คิดว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจาหารือและเป็นไปอย่างเหมาะสม  “สถานที่แห่งนี้เป็นมรดกของประเทศ  เป็นมรดกของทุกคน  ส่วนความมีเสน่ห์ของช้างนั้นผมคิดว่ายังมีความจำเป็น  แต่ส่วนเรื่องของการจัดที่อยู่นั้นก็เป็นคนละส่วนกัน  คงต้องมองแยกกัน  ในเรื่องของมรดกโลกนั้นเราก็อยากจะรักษา  เหมือนกับที่เราออกมาเสนอความเห็นในเรื่องของเพนียดคล้องช้าง  ที่อยากจะเห็นความสง่างาม  เพราะฉะนั้น การจัดระเบียบหรืออะไรต่างๆ  เป็นสิ่งที่ควบคู่กันไป”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต การเมืองการปกครองท้องถิ่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา ปริญญาบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทร.สุวรรณภูมิ ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา รางวัลพระราชทานเทพทอง สมาคมนักวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นักเรียนการแสดง รัชฟีล์มที่วี artspa ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์เคเบิลเอทีวี บรรณาธิการเจ้าของเพจสถานีข่าวเอทีวี นักเขียนอิสระ