พระนครศรีอยุธยา-พลายพิชิตมาร ช้างงายาวเกือบ 2 เมตรวังช้างอยุธยาล้มลงอย่างปริศนา ขณะ ส.ส.กรุงเก่ารวมตัวกับแกนนำชาวบ้านหารือเดินหน้าทวงคืนหัวเสาตะลุงเพนียดคล้องช้าง ยันกรมศิลปากรผิดรัฐธรรมนูญไม่ฟังเสียงชาวบ้าน แนะอธิบดีทำเหมือนเดิม ก่อนเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว
เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 8 กค ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารอธิการบดี มรภ.พระนครศรีอยุธยา สภาวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำโดยนายสุเทพ ชูชัยยะ กรรมการสภาฯ และดร.ดุลย์พิชัย โกมลวาณิช นักวิชาการอิสระ ได้จัดให้มีการประชุมหาแนวทางในการทวงคืนหัวเสาตะลุงเพนียดคล้องช้าง หมู่ 3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกำลังเป็นประเด็นขัดแย้งและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จากการที่สำนักศิลปากรที่ 3 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเพนียดคล้องช้างทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2561 ด้วยงบประมาณ 35 ล้านบาท และได้ทำการตัดหัวเสาตะลุงที่อยู่ด้านนอกเชิงเทินออกไปทั้งหมด สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน และประชาชนทั่วไป เป็นที่วิพากย์วิจารณ์ในโซเชียลและสื่อต่างๆ จนถึงมีการร้องเรียนไปยัง ปปช. ส.ต.ง.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนถึงนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งวันนี้
ข่าวน่าสนใจ:
โดยการประชุมครั้งนี้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้ง 4 เขตมาร่วมรับฟังและแสดงความเห็น ประกอบด้วย นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.เขต 1 รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ส.ส.เขต 3 พรรคภูมิใจไทย นายจิรทัศน์ ไกรเดชา ส.ส.เขต 4 พรรคเพื่อไทย และตัวแทนนายนพ ชีวานันท์ ส.ส.เขต 2 พรรคเพื่อไทย อีกทั้งยังมีนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมประชุม ส่วนตัวแทนชาวบ้านมีนายลายทองเหรียญ มีพันธ์ ประธานมูลนิธิพระคชบาล นายนพพร ขันธนิกร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.สวนพริก ตัวแทนองค์กรภาคประชาชน มาร่วมหารือ ซึ่งการประชุมได้เปิดโอกาสให้แกนนำภาคประชาชนได้นำเสนอถึงความสำคัญของเสาตะลุง และความผูกพันระหว่างคนพื้นที่กับเสาตะลุง ซึ่งมีการจัดทำบุญทุกปี อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งที่ประชุมมีการพูดถึงความไม่ชอบมาพากลของการดำเนินการซ่อมแซมครั้งนี้ ที่พบว่ามีการนำไม้มาทำเปลือกไม้ ล้อมเสาเก่าหลายต้น ที่ตัดหัวเสาไป อีกทั้งยังพบว่าเสาตะลุงหลายต้นไม่ได้ขนาด และยังมีสภาพผุพังมาก แต่ยังมีความพยายามในการทำให้เป็นเสาใหม่ จึงเชื่อว่าอาจจะมีการทำที่ไม่มาตรฐาน ซึ่งชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยัง ปปช. ส.ต.ง.ให้มีการตรวจสอบแล้ว
ด้าน ดร.ดุลย์พิชัย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นความตั้งใจของผู้แทนของประชาชนทั้ง 4 เขต ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของคนทั้งจังหวัดจำนวนกว่า 6 แสนคน ที่มีความตั้งใจที่จะให้กรมศิลปากรได้นำหัวเสาตะลุงกลับมา และมองว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้น กรมศิลปากรกำลังทำให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่คนกำลังออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น การหารือครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า มรภ.พระนครศรีอยุธยา ก็มีความพยายามที่จะให้ใช้สถานที่เพื่อการเจรจาหรือหาเหตุผลในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และจากการที่อธิบดีกรมศิลปากร ยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนหรือแก้ไขใดๆ ยิ่งจะทำให้ชาวบ้านและประชาชนอยากที่จะเรียกร้องมากขึ้น และอยากรู้ว่าสิ่งที่กรมศิลปากรดำเนินการนั้น มีการหารือประชาชนหรือไม่อย่างไร
ด้านนายวัชระ เปิดเผยว่าตนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนชาวสวนพริก ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยต้องบอกว่ากรมศิลปากรทำผิดรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้ภาครัฐต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน ไม่ใช่ตะแบงแบบนี้ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการดีที่ ส.ส.ทั้งหมดของจังหวัดฯ จะได้รวมตัวกัน ในการวางแนวทางที่จะนำเรื่องนี้เป็นกระทู้สำคัญต่อสภา หรือเร่งดำเนินการขอความเป็นธรรมเพื่อแก้ไขให้เร็วที่สุด
นายเกื้อกูล กล่าวด้วยว่า ตนเองมีความรู้เรื่องศิลปะน้อยมาก แต่การที่ได้รับเรื่องจากชาวบ้านไปเพื่อไปสู่นายกรัฐมนตรีนั้น ทำให้ทราบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เห็นว่าชาวบ้านรักและหวงแหนมรดกนี้มาก อยากให้มีการเจรจากันทั้งกรมศิลปากรและชาวบ้าน สิ่งที่สงสัยคืออธิบดีกรมศิลปากร สมัยก่อนๆ ที่บูรณะเพนียด ไม่เคยรู้เลยหรือว่ามีหลักฐานภาพถ่ายชาวต่างชาติเหมือนการซ่อมครั้งนี้ อยากยกตัวอยากการซ่อมแซมโบราณสถานวิหารในนอตเตอร์ดรัม ที่เน้นการซ่อมตามความทรงจำของประชาชนที่เคยเห็น ซึ่งส.ส.ทุกคนวันนี้ไม่จำกัดพรรค แต่จะหารือร่วมกัน ในการนำเรื่องนี้ไปสู้กระบวนการตัดสินใจของรัฐหรือกรมศิลปากร ซึ่งในส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรตัด ที่สำคัญเป็นเรื่องใหญ่ ที่กระทบต่อจิตวิญญาณของชาวบ้านและคนทั่วไปที่เคยเห็น
และในระหว่างการประชุม ปรากฏว่านายลายทองเหรียญ ถึงกับปล่อยโฮร้องไห้ออกมา เมื่อทราบว่าช้างพลายพิชิตมาร ซึ่งเป็นช้างวัย 50 ปี มีงายาวเกือบ 2 เมตร ที่ล่ามเอาไว้กับต้นก้ามปูของเพนียดคล้องช้าง เนื่องจากตกมัน ได้เสียชีวิตลง ซึ่งนายวัชระ และคณะได้เดินทางไปร่วมกราบซากช้างพลายพิชิตมาร โดยนายลายทองเหรียญ กล่าวว่า พลายพิชิตมาร ตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ ก่อนหน้านี้มาล่ามเอาไว้ใกล้เพนียด สังเกตเห็นมันมองเสาตะลุงที่โดนตัดหัวทุกวัน มันคงสื่อได้ว่าหากมันล้มตายลง รัฐคงจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: