พระนครศรีอยุธยา-รมต.วัฒนธรรมเปิดอบรมการพากย์เจรจาโขน สืบสานมรดกโลก ย้ำให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลป-โบราณสถาน
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 23 กย.ที่ โรงแรมวรบุรีอยุธยารีสอร์ทแอนด์สปา อ.พระนครศรีอยุธยา นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมต.กระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมการพากย์และการเจรจาโขน ซึ่งจัดโดยสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยมีนางสาวนุชนาถ ประทีปธีระนันท์ รองผวจ.พระนครศรีอยุธยา นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ดร.จิระพันธ์ พิมพ์พันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดร.อุดมศักดิ์ ศักดิ์มั่นวงศ์ ประธานสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ
สำหรับการจัดการฝึกอบรมครั้งนี้มีวิทยากรจากกรมศิลปากรเป็นผู้ให้ความรู้ และมีผู้เข้าอบรมเป็นครูสอนโขนจากสถาบันต่างๆ คนโขน และนักเรียนนักศึกษา รวมทั้งสิ้น 150 คนเข้าร่วมอบรมเชิงปฎิบัติการเป็นเวลา 4 วัน ทั้งนี้เนื่องจากศิลปะการแสดงโขนเป็นนาฎศิลป์ชั้นสูง มีการถ่ายทอดมากว่า 6 ทศวรรษ ถือกำเนิดมาจากมหรสพหลวง ทีมีการแต่งกาย การแสดง และองค์ประกอบที่ทรงคุณค่า อีกทั้งยังเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้อนุรักษ์และสืบสานงานโขน และจากความพยายามของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ทำให้โขนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนวัฒนธรรมมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะนำไปจัดทำยุทธศาสตร์การอนุรักษ์พัฒนาและสืบทอดต่อยอดองค์ความรู้การพากย์การเจรจาโขนด้วย
ขณะเดียวกันรมต.กระทรวงวัฒนธรรม ยังได้กล่าวถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการแสดง วัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งการมีส่วนร่วมเป็นนโยบายหลักสำคัญที่ทางรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ในเรื่องการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม โดยเฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีทั้งเรื่องของการเป็นเมืองหลวงของไทยในอดีต การมีความเจริญ และความงดงาม หลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในส่วนของภาครัฐก็ต้องอาศัยภาคประชาชนที่ต้องมีส่วนร่วมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกิจกรรม หรือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ก็เป็นส่วนสำคัญ สำหรับเรื่องประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมาในอดีตก็มีปรากฎการณ์ในหลายๆปรากฎการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวรรณคดี เหตุการณ์ที่สำคัญ เรื่องละครโทรทัศน์ ทำให้ประชาชนคนไทยมีกระแสในเรื่องการแต่งชุดไทย การท่องเที่ยวตามโบราณสถานกลายเป็นเรื่องปกติ ในฐานเป็นเมืองมรดกโลกที่มีความสำคัญ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะการดูแลสอดส่อง การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ การดูแลรักษาให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาจังหวัดฯ และส่วนที่เป็นพื้นที่สำคัญทางโบราณคดี กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเพียงหน่วยราชการหนึ่ง ในการขับเคลื่อน แต่ส่วนที่สำคัญคือการขับเคลื่อนและร่วมมือของประชาชน ในหลายๆกิจกรรม หลายนโยบาย ต้องอาศัยภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ความรู้ หรือรับฟังความคิดเห็น จากการที่จะต้องมีเรื่องข้อปฎิบัติ หรือการเผยแพร่ในเรื่องกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในเรื่องของการร่วมกันอนุรักษ์ และหวงแหง มรดกทางวัฒนธรรม ที่ผ่านมาทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ก็มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อยู่ทุกปี เพื่อให้เกิดการบันทึกเป็นหลักฐาน เพื่อให้ชุมชนช่วยกันรักษา และภาครัฐมาต่อยอด นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และองค์รวมของประเทศต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: