พระนครศรีอยุธยา-หมอช้างรุ่นลายครามจากสุรินทร์และชัยภูมิร่วมประกอบพิธีสวดถอนอาถรรพ์เสาตะลุงในเพนียดหลวง เพื่อให้สำนักงานศิลปากรซ่อม หวังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญตลอดไป
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 7 เม.ย. ที่บริเวณศาลประกำ หมู่บ้านช้างเพนียดหลวง ม.3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายลายทองเหรียญ มีพันธ์ ประธานชมรมคชบาล และเจ้าของวังช้างอยุธยาแลเพนียด ได้จัดให้มีพิธีบูชาศาลประกำ โดยมีหมอช้างจาก จ.ชัยภูมิ และสุรินทร์ มาร่วมประกอบพิธีบนศาลประกำ เพื่อที่จะนำเชือกประกำไปร่วมประกอบพิธีบวงสรวงและถอนเสาตะลุงเพนียดคล้องช้างเพื่อให้กรมศิลปากรทำการอนุรักษ์และซ่อมแซม โดยมีช้างร่วมขบวนนำเชือกประกำจำนวน 10 เชือก เดินทางเข้าไปร่วมประกอบพิธีภายในเพนียด โดยมีนายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา มาเป็นประธาน และมีนายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ผู้แทนการท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยา ร่วมในพิธี
หลังจากขบวนช้างเข้าสู่บริเวณเพนียด นายลายทองเหรียญ มีพันธ์ ในฐานะหมอช้างชั้นสะดำ นำหมอช้างร่วมพิธีกรรม จากนั้นพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพราหมณ์หลวง อ่านโองการบูชาเทพยาดา พระเทวกรรม สิ่งศักสิทธิ์ เพื่อขออนุญาต ถอนเสาตะลุง และบุรณะเพนียดคล้องช้าง โดยหมอช้างเสี่ยงทายคางไก่ ตามโบราณประเพณีชาวช้าง จากนั้นได้ใช้ช้างพลายจำนวน 2 เชือกถอนเสาตะลุงขึ้นมาเป็นพิธี ซึ่งจะทำการซ่อมแซมและถอนเสาตะลุงทุกต้น
นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สำนักงานศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เตรียมที่จะดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาเพนียดแห่งนี้ โดยใช้งบประมาณ 35 ล้านบาท โดยใช้เวลาการบูรณะประมาณ 300 วัน ซึ่งระหว่างการซ่อมเสาตะลุงก็จะมีการหาต้นไม้เนื้อแข็งมาทดแทนใหม่ด้วย ซึ่งส่วนที่ซ่อมส่วนใหญ่เป็นเสาตะลุงที่เกิดความเสียหายจากช่วงน้ำท่วมปี 2554 จำนวน 812 ต้น โดยทางสำนักงานศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้สำรวจและของบประมาณในการบูรณะ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ เพนียดคล้องช้าง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ทุ่งทะเลหญ้า ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่สำหรับการจับช้างหน้าพระที่นั่ง แต่เดิมเคยใช้พื้นที่ข้างพระราชวังจันทรเกษม จนถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงย้ายมาที่ที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช้าง เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญสูงมาก เป็นพาหนะของชนชั้นสูงสำหรับพระราชดำเนินทางบก และเป็นเหมือนรถถังหรือ เครื่องมือสำคัญในการนำลี้พลเข้าต่อสู้กับข้าสึก ยิ่งถ้าเป็นช้างเผือก สิ่งมงคลคู่บารมีของพระมหากษัตริย์ด้วยแล้ว พระองค์ก็จะโปรดเกล้าฯให้นำมาเลี้ยง และประดับยศศักดิ์ให้ด้วย พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะเสด็จมาทอดพระเนตรการคล้องช้างด้วยเสมอ เพราะนอกจากจะเป็นขั้นตอนในการคัดเลือกช้างแล้ว ยังเป็นมหรสพชนิดหนึ่งอีกด้วย ปัจจุบันเพนียดคล้องช้างมีสภาพชำรุดเสียหายตามกาลเวลา แม้ว่าจะเคยมีการบูรณะมาหลายครั้งก็ตาม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: