X

หวั่นหาดพัทยาวิกฤตอธิบดีกรมทรัพย์ฯลงพื้นที่ตรวจ

อธิบดีกรมทรัพย์ฯรุดลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย หลังมวลน้ำซัดทรายโครงการเสริมหาดพัทยาลงทะเลนับตัน เบื้องต้นเร่งประสานกรมเจ้าท่าเมืองพัทยาจัดทำระบบระบายเฉพาะกิจ หวังร่วมแก้สถานการณ์ให้ผ่านมรสุมช่วงฤดูฝนเพื่อรอระบบระบาย 105 ล้านของเมืองพัทยาอีก 1 ปี

ไม่พลาดทุกกระแสร้อนชลบุรี-พัทยา กดรับข่าว “พัทยานิวส์”ผ่านไลน์ได้แล้ววันนี้
เพิ่มเพื่อน

วันนี้ (4 เม.ย.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา นายบันลือ กุลละวณิชย์ รองนายกเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่จากเมืองพัทยา กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจสภาพชายหาดพัทยาบริเวณปากซอย 6 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อตรวจสอบความเสียหายและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำหลากจากมรสุมพายุฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา หลังได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ลงมาตรวจสอบและหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เนื่องจากกรณีดังกล่าวพบว่าส่งผลกระทบต่อโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยาของกรมเจ้าท่า และผลกระทบด้านภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในภาพรวม รวมทั้งหารือและวางแผนในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและยาว ด้วยกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นกระแสสังคมที่ส่งผลกระทบไปในวงกว้าง ด้วยมีมวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลบ่าลงสู่ชายหาดและพัดเอาทรายที่นำมาเสริมไว้ไหลลงสู่ทะเลจนสภาพชายหาดเกิดความชำรุดและเสียหายเป็นอย่างมาก

นายจตุพร ระบุว่าเรื่องนี้ทางรัฐบาลให้ความเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากภาพที่ออกไปตามสื่อและโลกโซเชียลต่างๆดูรุนแรงและมีความเสียหายมากจนอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้ ถึงแม้ว่าเหตุการณ์การนี้จะเป็นภัยที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ ไขหรือบรรเทาเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้เบื้องต้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่า ประสานกับวิศวกรของกระทรวงทรัพย์ฯ และเมืองพัทยา ในการเปิดทางระบายน้ำเฉพาะจุด เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในเมืองและถนนสายชายหาด เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลได้เฉพาะจุดที่กำหนดไว้เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดทางน้ำไว้จำนวน 3 จุดหลัก โดยจะมีการนำถุงทรายแบบ BigBag มาจัดวางเรียงบนผืนทรายเป็นแนวยาวจากสันเขื่อนริมฟุตปาธไปจนถึงทะเล เพื่อชะลอและลดการไหลของทรายให้ได้มากที่สุด แทน ที่จะปล่อยให้ไหลทั่วทั้งหาดจำนวน 12-13 จุด ซึ่งทำให้เกิดภาพที่ไม่น่ามอง จากนั้นก็จะจัดส่งเจ้าหน้าที่นำรถเข้ามาตักทรายและปรับสภาพให้คืนกลับโดยเร็วที่สุด

นายจตุพร กล่าวต่อไปว่าด้วยความเจริญเติบโตของเมืองพัทยาจึงทำให้แหล่งรับน้ำลดน้อยลง ขณะที่ระบบระบายก็ใช้มาเป็นเวลานานทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลได้อย่างเพียงพอ จึงต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น แต่ก็ต้องชื่นชมเมืองพัทยาว่าหลังเกิดเหตุได้เร่งเข้ามาดำเนินการปรับสภาพทันทีเพื่อลดความเสียหายซึ่งแม้ใช้เวลาบ้างแต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ อย่างไรก็ตามจากการสอบถามแผนการแก้ไขในระยะยาวของเมืองพัทยานั้นพบว่าปัจจุบันมีการออกแบบโครงการและอนุมัติงบประมาณจำนวน 105 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนสายเลียบชายหาดและลดภาวะน้ำไหลบ่าลงสู่ทะเล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการประกวดราคาและเตรียมจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ดังนั้นช่วงนี้ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันเฝ้าระวังและเข้ามาแก้ไขสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วงมรสุมฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้จน กว่าโครงการจะแล้วเสร็จ ซึ่งคงลดปัญหาไปได้อย่างสมบูรณ์

ขณะที่นายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่าสำหรับโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณชายหาดพัทยานั้นขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากและคงสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ โดยระบบดัง กล่าวจะมีขุดถนนเพื่อวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่แบบ HDPE ขนาด 1.8 เมตรลอดใต้แนวถนนตลอดระยะทางกว่า 1,938 เมตร พร้อมรางระบายน้ำ และ Box Culvert ขนาด 2×2 เมตรทุกระยะ 2 เมตรจากพัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ ก่อนผลักดันน้ำเข้าสู่ระบบสถานีสูบ คลองสาธารณะ และปล่อยลงท่อที่ต่อเชื่อมลงสู่ทะเล ซึ่งจะสามารถรองรับน้ำได้จำนวนมหาศาล ซึ่งนอกจากปริมาณน้ำท่วมขังบนถนนจะลดน้อยลงแล้วน้ำที่ไหลบ่าลงทะเลก็จะมีจำนวนน้อยเช่นกัน ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะหมดไปแน่นอน…

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน