วันที่ 16 ก.พ.66 นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงนี้พบผู้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันเพิ่มมากขึ้นจากรายงานโรคที่เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 มีรายงานผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง จำนวนทั้งสิ้น 2109 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 245.53 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือนักเรียน 812 ราย รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง และเด็กเล็ก 0-5 ปี จำนวน 621 และ 323 ราย ตามลำดับ พบผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยพบเพศหญิง 1,224 ราย เพศชาย 885 ราย อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย เท่ากับ 1.38 : 1 กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 1,029.5 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 – 9 ปี และ65 ปี ขึ้นไป คิดเป็นอัตราป่วยเท่ากับ 582.07, 251.42 และ 251.33 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ โดยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทั่วไป เท่ากับ 1,222 ราย โรงพยาบาลชุมชน เท่ากับ 803 ราย รพ.สต. เท่ากับ 83 ราย อำเภอที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคืออำเภอท่ามะกา จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ 518 ราย รองลงมาคืออำเภอเมืองกาญจนบุรีและอำเภอท่าม่วง จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ 482 และ 194 ราย ตามลำดับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต่อไปว่า ขอย้ำให้ประชาชนระวังการติดเชื้อที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่ม พร้อมเตือนผู้ปกครองระวังบุตรหลานป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วง ให้ดื่มสารละลาย โออาร์เอส ห้ามกินยาหยุดถ่าย หรือกินยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น หากอาการรุนแรง มีไข้สูง ให้รีบไปพบแพทย์ โรคอุจจาระร่วงเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนหรือเรียกว่าอาหารเป็นพิษ เชื้อไวรัส พยาธิ และแบคทีเรีย โดยโรคอุจจาระร่วงที่พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักเกิดจากเชื้อไวรัส สถานที่ที่พบมากคือศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน โดยโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัส อาการจะรุนแรงมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระของผู้ป่วย ติดต่อทางการกินอาหาร นม น้ำดื่ม หรือการอมมือหรือหยิบจับของใส่ปาก ผู้ปกครองต้องดูแลใส่ใจดูแลไม่ให้สัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อ มักจะมีอาการภายใน 2-10 วันหลังรับเชื้อ โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อน ต่อมาจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปนฟอง และมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ถ่ายเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า มีไข้สูงและอาเจียนร่วมด้วย ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากจะทําให้เชื้อแบคทีเรียที่มีตามธรรมชาติอยู่ในร่างกายเกิดการดื้อยาได้ ไม่ควรกินยาหยุดถ่ายเพราะจะทำให้เชื้อโรคยังคงอยู่ในลำไส้ ต้องให้เด็กดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โออาร์เอส ป้องกันภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ โดยผสมน้ำตาลเหลือแร่ โอ อาร์ เอส 1 ซอง ในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 แก้ว 240 ซีซี กรณีไม่มีน้ำตาลเกลือแร่ อาจเตรียมเองโดยใช้เกลือแกงครึ่งช้อนชา และน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำต้มสุก 1 ขวด (ประมาณ 750 ซีซี) เมื่อผสมแล้วดื่มไม่หมดภายใน 1 วันให้ทิ้งและผสมใหม่ หากมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง อุจจาระบ่อย และไม่สามารถดื่มน้ำทดแทนได้ เด็กจะมีอาการขาดน้ำรุนแรง หากรับการรักษาไม่ทันหรือไม่เหมาะสม อาจเกิดภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้ ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ทั้งนี้ การป้องกันโรคอุจจาระร่วง ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่ได้รับมาตรฐาน เลือกซื้อน้ำแข็งที่ถูกสุขอนามัย สำหรับอาหารค้างมื้อควรอุ่นร้อนทุกครั้งก่อนรับประทาน และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหารและภายหลังขับถ่าย สำหรับศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และสถานที่ที่พบผู้ป่วยในช่วงนี้ควรจัดกิจกรรมทำความสะอาดใหญ่ (Big cleaning) โดยทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสร่วมกัน ของเล่น บริเวณที่เด็กเล่นในอาคาร ห้องน้ำ โรงอาหารด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อตัดวงจรการระบาด จัดกิจกรรมเสริมสร้างพฤติกรรมอนามัย และคัดกรองอาการป่วยทุกวัน หากพบผู้ป่วยให้หยุดเรียน/ทำงานจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากอาการอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้น มีอาการถ่ายเป็นน้ำมากขึ้น อาเจียนบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ มีไข้สูง ถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: