X

เชียงใหม่-ทางรอด ระดมกล้าไม้ปลูกทุกบ้าน สู้มลพิษ ฟรี 1-3 ปี รู้ผล

เชียงใหม่–ทางรอด ระดมกล้าไม้ปลูกทุกบ้าน สู้มลพิษ ฟรี 1-3 ปี รู้ผล

ช่วงนี้ สิ่งที่ชาวไทยพากันกังวลมากก็คือเรื่องของสภาวะอากาศ โดยเฉพาะเรื่อง มลพิษจาก ฝุ่น PM2.5  ที่กำลังสร้างความเดือดร้อนอย่างหนัก ให้ กับ ชาวบ้านเองในภาคเหนือ หลายจังหวัดกำลังเผชิญกับมลพิษนี้อย่างหนัก มีแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่ ถึงกับเสียชีวิต จาก โรคมะเร็งปอด อันเนื่องมาจากการทำงานในพื้นที่ ที่มี ฝุ่น PM 2.5  ไม่ใช่คนเดียวแต่เสียชีวิตถึง 4 คน  สร้างความสะพรึงกลัว ในกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ จ.เชียงใหม่อย่างหนัก อีกทั้งยังไม่รู้ว่าปัญหา ฝุ่น P M. 2.5 จะสิ้นสุดอย่างไร จะป้องกัน อย่างไร และจะทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกเท่าไหร่

ในช่องทางที่หนึ่งที่เป็นวิธีการป้องกัน ฝุ่นไม่ให้เข้าถึงชีวิตผู้คนในพื้นที่ ที่เกิดฝุ่นได้ ก็คือ พื้นที่ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก  ที่ปัจจุบันในพื้นที่เมืองมีปริมาณ ต้นไม้ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง น้อยมาก เนื่องจากภาวะความต้องการใช้ที่ดินสูงมาก แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤติ อาคาร ตึก ไม่สามารถป้องกันฝุ่น     P M 2.5 ได้ มีเพียงสิ่งเดียวที่พอจะป้องกัน ภาวะมลพิษจากฝุ่น P.M 2.5 ได้ ก็คือ ต้นไม้ เท่านั้น  ทั้งที่จริง ๆ แล้วต้นไม้คือหลังคาโลกที่ธรรมชาติสร้างมาให้ ปกป้องดูแลชีวิตของสิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์ มนุษย์ มาอย่างยาวนาน มนุษย์ในยุคโบราณจะรู้ดีว่า ต้นไม้ขนาดใหญ่มีความสำคัญต่อการมีชิวิตอยู่อย่างไร ถึงขั้นมีการบูชา รักษาต้นไม้ขนาดใหญ่ โดยยกเอาเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มาป้องกันไม่ให้มนุษย์ทำลาย ต้นไม้ ป่าไม้ แต่มนุษย์ยุคปัจจุบันที่คิดค้น เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อ ทำลายป่า ทำลายต้นไม้ อย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง ความร้อนที่รุนแรง กระจายไปทั่วโลก จนเกิดภาวะโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย  การเปลี่ยนแปลงของอากาศ ที่ในอนาคต สิ่งมีชีวิต อย่าง มนุษย์ อาจไม่สามารถอยู่บนโลกนี้ได้อีก ถ้าไม่ช่วยกัน ปกป้อง ผืนป่าที่เหลือ และ เร่งสร้างป่าใหม่เพื่อเป็นหลังคาโลก ที่ต้องใช้เวลา อย่างน้อย 50 ปี ขึ้นไป

หน่วยงานของรัฐที่ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี ศูนย์เพาะชำกล้าไม้และสถานีเพาะชำกล้าไม้ กระจายอยู่ทั่วทุกภาค แทบทุกจังหวัด โดยมีหน้าที่ผลิตกล้าไม้คุณภาพและมีความหลากหลายชนิด เพื่อให้ชาวบ้านนำไปปลูกในสถานที่ต่างๆ และกระจายออกไปให้มากที่สุด  อันเป็นความหวังเดียวเท่านั้น ในการต่อสู้กับภาวะวิกฤติในครั้งนี้ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับโลก แต่ในช่วง ฤดูร้อนที่ผ่านมา แทบจะกลายเป็นเมืองร้าง ไร้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ อย่างน่าตกใจ ทั้งชาวไทยและ ต่างชาติ พากันหวาดกลัวที่จะต้องเผชิญกับ มลพิษที่อันตรายอย่างหนักกับชีวิตคน อีกทั้งมีตัวอย่างผู้เสียชีวิตที่เป็นถึงแพทย์จำนวนหลายคน

ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 71หมู่ที่ 1 ต.บ้านสหกรณ์ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ มี นางวนิดา ทองนุช เป็นหัวหน้าศูนย์ สังกัดส่วนผลิตกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เปิดเผยว่า “ภาระหน้าที่หลัก ๆ คือการผลิตกล้าไม้เพื่อการแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ ครอบคลุม 3 จังหวัดคือเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน

นางวนิดา กล่าวว่า”ต้นไม้ ใบไม้ จะช่วยดูดซับฝุ่นไว้ที่ใบ และเมื่อเกิดกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้ ปากใบจะเปิดและดูดฝุ่นเข้าไป ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สามารถช่วยดูดซับฝุ่นได้ สำหรับกระบวนการผลิตกล้าไม้ จะเริ่มจากการจัดเก็บเมล็ดไม้ ซึ่งไม้แต่ละชนิดก็จะให้เมล็ดไม่พร้อมกัน อย่างเช่น ยางนาที่กำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากปลูกแล้วจะได้กินเห็ดด้วย จะให้เมล็ดช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมส่วนชนิดอื่น ๆ จะให้เมล็ดในช่วงเดือนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการผลิตไม้แต่ละชนิดจะไม่พร้อมกัน  เมื่อได้เมล็ดมาแล้วก็จะมีการเตรียมพื้นที่เตรียมโรงเรือนเพาะชำ กรอกดินไว้ในถุงและเพาะเมล็ดลงแปลงเพาะ เมื่อเมล็ดงอกแล้วก็จะย้ายชำกล้าไม้ลงไปในถุงและเลี้ยงต่อ จะใช้ระยะเวลาในการ เลี้ยงดูประมาณ 4 เดือนสำหรับไม้โตเร็ว  ส่วนไม้โตช้าจะใช้เวลาดูแลตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปีหรือข้ามปีแล้วจึงจะแจก

เมื่อชาวบ้านมารับกล้าไม้จากศูนย์เพาะชำฯ ไปแล้ว ขอให้นำไปไว้ในร่มหรือที่มีแดดรำไรก่อน เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าสมมุติว่าในพื้นที่ที่จะปลูกไม่มีระบบน้ำต้องอาศัยฝนอย่างเดียว ก็ควรปลูกในช่วงที่มีฝนตกก็จะทำให้มีอัตราการรอดตายที่สูงกว่า แต่ถ้ามีระบบน้ำ เมื่อกล้าไม้ปรับตัวผ่านไป 2 สัปดาห์ ก็สามารถนำไปปลูกได้เลย และควรหาฟางแห้ง หรือเศษหญ้าแห้ง หรือใบไม้แห้ง คลุมที่โคนต้นเพื่อช่วยเก็บความชื้นในดิน  ส่วนการดูแลนั้นไม้ป่า ไม่ต้องดูแลมากเหมือนไม้ผล  การรดน้ำในช่วงแรกอาจจะรดน้ำวันเว้นวัน  และเริ่มแตกใบใหม่ก็ลดลงเหลืออาทิตย์ละ 1 ครั้งเมื่อมีฝนมาก็สามารถปล่อยให้เติบโตได้เลย

ส่วนในพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรหรือในเมือง ที่มีพื้นที่น้อยแต่อยากปลูกต้นไม้  ก็จะแนะนำให้ปลูกไม้ประดับหรือไม้พุ่มที่ไม่โตมาก ซึ่งจะทำให้รากไม่ชอนไชเหมือนกับไม้ต้นใหญ่  ซึ่งที่ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ก็จะมีไม้ประดับซึ่งทำไว้สำหรับรองรับสำหรับคนที่มีใจอยากปลูกต้นไม้แต่มีสถานที่น้อย  ส่วนคนที่มีพื้นที่เยอะๆก็จะแนะนำ ให้ปลูกโดยมีหลักการว่าให้ปลูกเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งตามธรรมชาติจะมีความหลากหลายชนิดมากมีทั้งไม้โตเร็วและไม้โตช้า ก็ควรจะปลูกคละกันไปเลย ยกตัวอย่างไม้ตัวเร็วอย่างเช่น สะเดา  ไผ่  มะฮอกกานี   กระถินเทพา   กระถินณรงค์ พวกไม้โตเร็วจะทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้น หลังจากนั้นก็นำไม้โตช้า หรือไม้เศรษฐกิจหรือไม้ที่ต้องใช้เนื้อไม้อย่างเช่น สัก  ยางนา  มะค่าโมง  ไม้แดง  ไม้ชิงชัน  ไม้ประดู่ปลูกตามไปจะทำให้อัตราการรอดตายสูงมาก

ในพื้นที่ที่ปลูกไม้ป่ายังสามารถถูกแซมด้วยพืชสวนครัว โดยไม้ป่านั้นจะมีระยะในการปลูกคือ 4 * 4 เมตรซึ่งจะทำให้มีร่องตรงกลางระหว่างต้นไม้ช่วงที่รอต้นไม้โต  สามารถที่จะปลูกพืชเกษตรตามร่องได้ ส่วนการปลูกไม้ป่าที่เคยเป็นไม้หวงห้าม และนำไปปลูกในที่ที่มีเอกสารสิทธิ์สามารถที่จะตัดไปจำหน่ายได้ตามกฎหมาย

ในส่วนของการบริการ ของศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ ในขณะนี้มีทั้งไม้โตเร็ว อาทิ ไม้ไผ่ มีทั้งไผ่ซางนวล ไผ่ซางหม่น  ไผ่รวก  ไผ่ข้าวหลาม  มาเลือกได้ตามต้องการและยังมี  มะฮอกกานี มีกระถินเทพาและในอนาคตจะมีกระถินลูกผสม หรือที่เรียกว่ากระถินเทพณรงค์ ซึ่งตัวนี้จะทนแล้งและโตเร็วมาก ในเวลาเพียงแค่ 5 ปีจะสามารถตัดใช้ได้เลย ในช่วงนี้กำลังปลูกต้นแม่และปักชำขยายพันธุ์เพื่อส่งต่อให้กับประชาชน

นอกจากนั้นยังมีไม้ที่องค์การสหประชาชาติยกย่องเป็น Super Food คือต้นมะรุม  ในขณะนี้ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ก็ยัง ดำเนินการเพาะชำและพร้อมที่แจกให้กับพี่น้องประชาชนในประเภทไม้กินได้ ดังนั้นผู้ที่จะ ปลูกต้นไม้ต้องมีความชัดเจนว่าต้องการปลูกต้นไม้เพื่ออะไร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกไว้กินหรือปลูกไว้ขายซึ่งเราจะมีตั้งแต่ไม้โตเร็วไม้กินได้และไม้สวยงามอีกทั้งยังจะมีสมุนไพรอีกด้วย

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะมารับกล้าไม้ไปปลูกนั้นคุณสมบัติจะต้องมีใจรักในการปลูกต้นไม้ในธรรมชาติอยากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวและไม่จำเป็นต้องเป็นคนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้นแต่จะต้องเป็นผู้ที่นำไปปลูกจริงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ลำพูนแม่ฮ่องสอนหรือแม้แต่ที่คนที่ทำงานที่เชียงใหม่แต่มีพื้นที่อยู่ที่จังหวัดอื่นๆแล้วจะกลับไปบ้านอยากได้ต้นไม้กลับไปปลูกก็ยังให้บริการอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน ขอแค่ให้รู้ว่าปลูกจริงเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เป็นไร่ ต้องการ 10 ต้น 20 ต้นก็แจก ที่สำคัญคือเราอยากจะปลูกต้นไม้ในใจของชาวบ้านก่อน อยากให้เขารู้ว่าต้นไม้แต่ละต้นกว่าจะโตได้ต้องใช้เวลานานแค่ไหน เมื่อลงมือปลูกเองจะทำให้รู้ว่าถ้าจะต้องตัดต้นไม้ที่ปลูกด้วยตัวเองจะมีความรู้สึกเกิดความรักความหวงแหน

ในส่วนของการปลูกต้นไม้และการดูแลนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายหรือยากเกินไปที่ สำคัญคือใจต้องรักมัน ต้นไม้ที่ขอไปแล้ววางไว้เฉย ๆ แล้วไม่ทำอะไรกับมันเลย มันก็ไม่สามารถโตขึ้นมาเองได้ ”  นางวนิดา กล่าวทิ้งท้ายก่อนนำไปดูแปลงเพาะชำกล้าไม้ ในพื้นที่หลายร้อยไร่ของ ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สาธิภัทร์ ศรีหฤทัย

สาธิภัทร์ ศรีหฤทัย

สู้ชีวิต สร้างสังคมที่ดีงามและยุติธรรม