ชุมพร-ครูเนี่ยนะ!! แจ้งจับสหกรณ์ออมทรัพย์ยักยอกเงินเกือบ 80 ล้าน
เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองชุมพร (สภ.เมืองชุมพร) บรรดาสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูชุมพร จำกัด ประมาณ 60 คน นำโดย นายเกรียงศักดิ์ จังคสุต อายุ 63 ปี ข้าราชการครูบำนาญ ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชนด้านวิชาการจังหวัดชุมพร และอดีตประธานผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เดินทางเข้าแจ้งความต่อ พ.ต.อ.ชนินทร์ ณรงค์น้อย ผกก.สภ.เมืองชุมพร ขอให้ดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์กับผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ฯรวม 7 คน เคยแจ้งความดำเนินคดีสหกรณ์ออมทรัพย์ฯประธานสหกรณ์ฯ และคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ ฐานยักยอกทรัพย์ที่ได้ยักยอกเงินกองทุนที่หักเงินจากยอดเงินกู้เข้าสมทบไว้เป็นกองทุน ซึ่งต่อมา นายทะเบียนสหกรณ์ฯ ได้มีหนังสือที่ ชพ.0010/2113 ลงวันที่ 14 กันยายน 2559 ว่าการดำเนินการดังกล่าวของสหกรณ์ฯ เข้าลักษณะต้องห้าม สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จึงมีประกาศเรื่องการแจ้งคืนเงินกองทุนช่วยเหลือสมาชิกเมื่อยามเดือดร้อน (ตามที่หักจากสมาชิกที่กู้ไว้) ประกาศ ณ วันที่ 29 มกราคม 2563 แต่ทางสหกรณ์ฯ ได้จ่ายเงินคืนให้ผู้กู้ไม่ครบตามจำนวนที่หักไว้
ข่าวน่าสนใจ:
- สานฝันวันคริสต์มาสให้เด็กนักเรียนห่างไกลความเจริญ
- ข้าวหลามตำบลโคกเจริญคว้ารางวัลชนะเลิศ "ข้าวหลามดี ศรีทับปุด" ปี 2567
- ตรัง ร้านอาหารผวา!! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วน อ้างสั่งอาหารหรู "พระกระโดดกำแพง" หลอกร้านดังเกือบเสียเงินแสน
- รับสมัครเลือกตั้ง สจ.สระแก้ว วันแรกคึกคัก พรรคประชาชนส่งทีมลงสมัครหลายพื้นที่ ส่วนอดีต สจ.บางคนไม่ลงเพราะต้องลงเลือกตั้งท้องถิ่น
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือสมาชิกเมื่อยามเดือดร้อน หรือ กองทุน 1% เมื่อปี 2548 แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จนในปี 2559 นายทะเบียนของสหกรณ์จังหวัดมีคำสั่งว่าการดำเนินงานกองทุน 1% ผิดกฎหมายมาตรา 18 เกี่ยวกับเรื่องประกันชีวิต จึงไม่สามารถดำเนินการได้ คณะกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ ในปี 2559 ยังไม่ยอมยุติการดำเนินการเรื่องนี้ โดยมีการเก็บเงินจากสมาชิกที่กู้เงินทั้งเงินกู้สามัญ และเงินกู้สามัญพิเศษ 1% เช่น กู้ 3,000,000 บาท ก็จะถูกหักเงิน 30,000 บาท กู้ 250,000 บาท ก็ถูกหัก 25,000 บาท ซึ่งมีผู้หักเงินจากกองทุนนี้ไปกว่า 6,000 ราย จนปี 2561 คณะกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ ชุดที่ 65 จึงได้ประกาศยกเลิกกองทุนดังกล่าว แต่ต่อมาคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ ชุดที่ 66 ได้มีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นการบริจาค ผมในฐานะประธานผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ได้ตรวจสอบพบความไม่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จึงทำหนังสือหารือกับนายทะเบียนสหกรณ์จังหวัดชุมพร ได้ข้อสรุปว่าต้องยุติการดำเนินการกองทุนนี้และยกเลิกมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 เพราะเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“เมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 สหกรณ์ออมทรัพย์ฯได้มีการคืนเงินให้สมาชิกในลักษณะมัดมือชกคือ มีการโอนเงินที่เหลือจากยอดเงินที่ใช้จ่ายไปแล้วประมาณ 37 ล้านบาท เข้าบัญชีของสมาชิกที่ถูกหักเงินไปไม่เต็มจำนวน เช่น บางคนถูกหักไป 6 หมื่นบาท แต่ได้คืนแค่ 32% หรือประมาณ 19,200 บาทเท่านั้น ดังนั้น สมาชิกที่ได้รับเงินคืนไม่ครบจึงรวมตัวกันเข้าแจ้งความร้องทุกข์เพื่อขอให้ดำเนินการสอบสวนให้เกิดความกระจ่างว่ามีการยักยอกเงินของสมาชิกหรือไม่ และขอยืนยันทุกคนที่แจ้งความไม่มีอคติกับกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ และเรื่องนี้ประธานสหกรณ์คือ นายบรรจง โลกมิตร เคยชี้แจงว่า เงินที่หักจากสมาชิกได้เอาไปให้ทายาทของสมาชิกที่เสียชีวิต ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ และขณะนี้มีสมาชิกของสหกรณ์ทั้งจังหวัดประมาณ 1 หมื่นคน แต่มีผู้ได้รับความเสียหายประมาณ 6,000 คน คิดเป็นยอดเงินประมาณ 100 ล้านบาท” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
นายวรรณะ ทองเทพ รองประธานและเลขานุการชมรมพิทักษ์รักสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ กล่าวว่า เมื่อสมาชิกสหกรณ์ฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องเรียกร้องความเป็นธรรมให้ กองทุนนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 มีสมาชิกถูกหักเงินประมาณ 6,900 คน คิดเป็นเงินประมาณ 113 ล้านบาท ระหว่างดำเนินกองทุน มีสมาชิกเสียชีวิตไป 122 คน จ่ายเงินไปประมาณ 87 ล้านบาท แต่เมื่อเลิกกองทุนในปี 2561 มีสมาชิกเสียชีวิตไปอีก 13 ราย แต่กลับไม่มีการจ่ายเงินให้ทายาทของผู้เสียชีวิตทั้ง 13 ราย ทั้งที่ยังมีเงินของกองทุนเหลืออยู่ ทำให้ทายาทของผู้เสียชีวิตทั้ง 13 รายต้องเสียสิทธิ์ไป ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หลังจากเลิกกองทุนแล้ว ยังมีการหักเงินเข้ากองทุนอีกประมาณ 1,400 ราย ทั้งที่รู้ว่า หักมาแล้วก็จ่ายให้ไม่ได้ หลังมีการแจ้งความ พ.ต.อ.ชนินทร์ ณรงค์น้อย ผกก.สภ.เมืองชุมพร รับปากว่าจะดำเนินการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทุกคนให้เร็วที่สุด โดยอาจจะเชิญผู้เสียหายมาให้ปากคำวันละประมาณ 10 คน แต่อาจจะไม่ครบทุกคน เพราะผู้เสียหายมีเป็นจำนวนมาก
“ความจริงพวกเรามีการแจ้งความเรื่องนี้เอาไว้แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และวันนี้เป็นการเข้าแจ้งความเพิ่มเติม เพื่อขอให้ดำเนินคดียักยอกเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ และกรรมการบริหารสหกรณ์ทั้ง 15 คน สิ่งที่พวกเราต้องการคือขอให้ทุกคนได้เงินคืน เมื่อสหกรณ์นำเงินของพวกเราไปแล้วเกิดความเสียหาย ก็สมควรแสดงความรับผิดชอบ เงิน 87 ล้านที่ระบุว่าจ่ายให้ทายาทผู้เสียชีวิต 122 คนไปแล้ว ถือเป็นการสิ่งผิดกฎหมายที่พวกเราไม่รู้เรื่องด้วย ดังนั้น ยอดเงิน 113 ล้านบาทที่หักจากพวกเราไป สหกรณ์ฯ ต้องคืนมาให้ครบพร้อมดอกเบี้ย แต่ขณะนี้มีการคืนมาแค่ 37 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยยังไม่มีการคืนให้สมาชิกแต่อย่างใด” นายวรรณะ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: