X

พลังมวลชนเรียกร้องเดินหน้าต่อโครงการท่าเรืออเนกประสงค์

พลังมวลชนเรียกร้องเดินหน้าต่อโครงการท่าเรืออเนกประสงค์

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 11 มีนาคม 2564 ที่บริเวณมุขหน้าศาลากลางจังหวัดชุมพร ประชาชนชาวชุมพรที่ต้องการให้มีการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ในพื้นที่ จ.ชุมพร ประมาณ 500 คน นำโดย ดร.ปิยวิทย์ โกฎเพชร ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร และสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายไพบูลย์ ลิ้มเลิศวาที ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร นายอนัน รามพันธุ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร นายสมบูรณ์ หนูนวล คณะทำงานสมาชิกวุฒิสภา ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร สวมเสื้อยืดสีขาว สกรีนข้อความ “ชาวชุมพรต้องการท่าเรือ” ร่วมกันยื่นหนังสือต่อ นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เพื่อแสดงเจตจำนงเกี่ยวกับความต้องการให้มีการก่อสร้างท่าเทียบเรือในพื้นที่ จ.ชุมพร หลังจากที่ผ่านมากรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เคยใช้งบประมาณศึกษาความเป็นไปได้ที่แหลมคอกวาง ต.นาทุ่ง อ.เมือง จ.ชุมพร มาแล้วเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องก็กลับเงียบหายไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด โดยมี นายสัมฤทธิ์ กองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายพิทักษ์ พิศสิริวัฒนสุทธิ์ ปลัดจังหวัดชุมพร และนายยุทธชัย จิตอารีรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาค สาขาชุมพร ร่วมรับมอบหนังสือด้วย

ในหนังสือเรียกร้องสรุปได้ว่า หากมีท่าเรือในจังหวัดชุมพร สิ่งที่ตามมาก็คือ ความเจริญด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และด้านสังคม เป็นประตูการค้าสู่บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย พม่า เนปาล ภูฏาน นอกจากนี้ ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการคมนาคมขนส่ง การกระจายสินค้า ตลอดจนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดำเนินธุรกิจควบคู่กับการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความสำคัญในการดูแลผู้มีส่วนได้-เสีย และชุมชนในพื้นที่รอบๆ ท่าเรือชุมพร ด้วยการสร้างจิตสำนึกอันดีในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานทุกระดับ

นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างคุณค่าร่วมของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยแบ่งเป็นโครงการด้านการศึกษา สังคม และด้านสิ่งแวดล้อม เกิดการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ทั้งทางถนน รถไฟ และเรือ โดยเฉพาะทางเรือจะสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวทางเรือให้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาระบบคมนาคมต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อรองรับสินค้าและผู้โดยสารของจังหวัดชุมพรและใกล้เคียงในอนาคต ลดต้นทุนการขนส่งในภาพรวมของประเทศ เป็นการประหยัดพลังงานและช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุได้มากกว่าการขนส่งทางบกและลดปัญหาการจราจร เกิดการพัฒนาจังหวัดชุมพรและเขตอิทธิพลใกล้เคียงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจและเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การประมง การท่องเที่ยว การขนส่ง และบริการที่เกี่ยวข้อง มีความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งมีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น มีระบบโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ ในการเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การประมง การท่องเที่ยว การขนส่ง และบริการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง

หากมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์แน่นอน โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร ความเจริญทางเศรษฐกิจและรากฐานความมั่นคงของชีวิตลูกหลานชาวชุมพร ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเกษตร และภาคการท่องเที่ยว ให้มีความทัดเทียมกับท่าเทียบเรือใหญ่ๆ อย่างท่าเรือแหลมฉบังที่ควบคุมระบบโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ จนทำให้จังหวัดชลบุรีจัดเป็นลำดับต้นๆ ในภาคเศรษฐกิจ การสร้างท่าเรืออเนกประสงค์ในจังหวัดชุมพรครั้งนี้ จะสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยรองรับ เรือขนส่งสินค้าทั้งการนำเข้าและการส่งออกในภาคพื้นทะเลอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน เรือสำราญ เรือท่องเที่ยว เพื่อเปิดจังหวัดชุมพร เสน่ห์มนต์ขลังแห่งประตูภาคใต้ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งน้ำตก ทะเล ขุนเขา ทะเลหมอก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเช่นท่าเรือเศรษฐกิจของไทยในหลายๆ แห่ง ซึ่งต้องขอขอบคุณ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ สมาชิกวุฒิสภา ที่ให้คำปรึกษาและทำความเข้าใจเรื่องแนวทางของนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น

หลังรับมอบหนังสือแล้ว นายธีระกล่าวว่า พร้อมจะนำหนังสือเรียกร้องส่งให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมพิจารณาทันที แต่คงยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะใช้เวลาในการศึกษาและอนุมัติโครงการได้เมื่อใด เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งต้องผ่านสภาพัฒนฯ ด้วย ถึงแม้ว่าอีกไม่กี่เดือนตนจะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ว่าฯ ชุมพร แล้ว แต่คนที่จะมาทำหน้าที่ผู้ว่าฯ ชุมพรต่อก็ต้องสานต่อเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่มีการศึกษาความเป็นไปได้มาแล้ว ก็คงต้องนำกลับมาพิจารณาพร้อมๆ กับการศึกษาใหม่ด้วย และกรณีที่อาจจะมีคนไม่เห็นด้วยก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งจำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจกันต่อไป โดยต้องชั่งน้ำหนักว่าส่วนได้ส่วนเสียสิ่งไหนมีมากกว่ากัน ซึ่งต้องดูในภาพรวมด้วย

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน