X

แก้ปัญหาให้ ปชช.!!!องคมนตรี ตามโครงการพระราชดำริ

ชุมพร-แก้ปัญหาให้ ปชช.!!!องคมนตรี ตามโครงการพระราชดำริ

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคใต้ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประกอบด้วย โครงการทำนบดินบ้านทับสมิงคลาพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดำริ จังหวัดชุมพร

องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามพระราชดำริ ตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งเกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยราษฎรชาวจังหวัดชุมพร ที่ประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรงจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ และพายุโซนร้อนซีต้า ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวจังหวัดชุมพรเป็นอย่างมาก และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2540 มีพระราชดำริให้เร่งรัดขุดคลองหัววัง – พนังตัก ที่ยังดำเนินการค้างอยู่ 1,460 เมตร ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือน โดยพระราชทานพระราชทรัพย์จากมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 18 ล้านบาท เพื่อให้กรมชลประทานยืมไปดำเนินการก่อน และยังได้รับจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์เพื่อใช้ก่อสร้างประตูระบายน้ำจำนวน  3 แห่ง และสามารถระบายน้ำได้ก่อนที่พายุลินดาเข้าเพียง 1 วัน ทำให้ชาวชุมพรได้รอดพ้นจากอุทกภัยนับแต่นั้นเป็นต้นมา และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ได้พระราชทานพระราชดำรัส เกี่ยวกับโครงการแก้มลิงหนองใหญ่ “…ให้หนองใหญ่เป็นแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อเป็นที่สำหรับรับน้ำจากคลองท่าแซะมาเก็บไว้ก่อนที่จะไหลลงสู่คลองท่าตะเภา และเมื่อมีปริมาณมากก็จะค่อยๆ ระบายลงสู่คลองหัววัง-พนังตัก เพื่อระบายออกสู่ทะเล นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่สำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอีกด้วย…”  นอกจากนี้ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาในหลายโอกาส โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดำริ

ปัจจุบันโครงการฯ สามารถป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียงทำให้ลดความเสียหายด้านเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูแล้ง เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ยังสามารถผลักดันน้ำเค็มที่จะรุกล้ำเข้าสู่คลองท่าตะเภา รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวนำไปสู่การสร้างคุณค่า และความเข้มแข็งในชุมชน ต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน