ชุมพร-ตะลึง!!ต้นไม้ 300 ปี บวชเป็นรุกขมรดกชาติ
ที่หมู่ที่ 7 ต.พะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการเส้นทางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติต้นไม้ใหญ่ “รุกข มรดกของแผ่นดิน” พร้อมประกอบพิธีผูกผ้าบวชต้นไม้ โดยกระทรวงวัฒนธรรมจัดโครงการ “รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี พ.ศ.2562″ ซึ่งเป็นต้นทุเรียนบ้านขี้เล็ด หมู่ที่ 7 บ้านท่าตีน และต้นตะเคียนทอง หมู่ที่ 16 บ้านคลองช้าง ต.พะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เป็นต้นไม้ที่มีขนาดลำต้นสูงใหญ่ อายุร่วม 300 ปี จึงจัดให้เป็นต้นไม้ใหญ่ รุกขมรดกของแผ่นดิน พร้อมประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลต้นไม้ใหญ่ รุกขมรดกของแผ่นดิน ทำให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สร้างอาชีพและรายได้ แก่ประชาชน และชุมชนในพื้นที่
ข่าวน่าสนใจ:
นายอาคม บุญญโส นายอำเภอพะโต๊ะ เปิดเผยว่า อำเภอพะโต๊ะ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและผืนป่าอันกว้างใหญ่ เป็นตันกำเนิดของแม่น้ำหลังสวน เป็นอำเภอที่ได้ฉายาว่า”เมืองแห่ง 3 ทะเล” คือ กลางคืนดูทะเลดาว ตอนเช้าดูทะเลหมอก พอแดดออกดูทะเลป่า ต้นไม้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอพะโต๊ะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ ประวัติศาสตร์ภูมิหลังที่มีความผูกพันกับชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะต้นทุเรียนบ้านขี้เล็ด และต้นตะเคียนทอง ซึ่งมีอายุกว่า 200 ปี ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นตันไม้ใหญ่ “รุกขมรดกของแผ่นดิน”ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ประกอบกับอำเภอพะโต๊ะ มีประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คือ ประเพณีล่องแพพะโต๊ะ เพื่อสัมผัสถึงความงดงามทางธรรมชาติชมทัศนียภาพของสายน้ำคลองพะโต๊ะ ตลอดถึงการแสดงทางวัฒนธรรมพื้นบ้านและลิ้มรสอาหารอร่อยกับเมนูพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง เช่น ไข่เจียวใบตอง หุงข้าวในกระบอกไม้ไผ่ แกงส้มหยวกกล้วยเถื่อนกับหมูสามชั้น
สำหรับโครงการเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติต้นไม้ใหญ่ “รุกข มรดกของแผ่นดิน” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการรักษา สืบทอดวัฒนธรรมของชาติและความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ ได้เล็งเห็นว่านอกเหนือไปจากมรดกภูมิปัญญาที่ได้แสดงออกผ่านภาษา ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม วรรณกรรมพื้นบ้าน และงานเทศกาลประเพณีด่าง ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมแล้ว สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติโดยเฉพาะ “ต้นไม้ใหญ่” จำนวนไม่น้อยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ภูมิหลัง ที่มีทั้งตำนานเรื่องเล่าและความเชื่อที่มีความผูกพันกับชุมชนท้องถิ่นมาอย่างช้านาน ที่สำคัญ”ต้นไม้” ยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และเป็นมรดกล้ำค่าของชาติที่ก่อให้เกิดความสมดุลของชีวิตและธรรมชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินโครงการ รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลต้นไม้ พร้อมทั้งนำข้อมูลไปใช้ในการสืบค้น เผยแพร่และการเรียนรู้รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กเยาวชน และประชาชนเล็งเห็นความสำคัญของต้นไม้ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาต้นไม้ และการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: