X

ขำกลิ้ง! จุดคัดกรอง “กรุณาใช้มืออัง หรือเอาหน้าผากจู้” คนสุโขทัยเท่านั้นที่เข้าใจ

28 มกราคม 2565 กลายเป็นประเด็นน่ารัก สร้างความขบขันทันที หลังในโลกโซเชียลฯได้มีการเผยแพร่ภาพ จุดคัดกรองของหน่วยงานแห่งหนึ่ง ที่มีป้ายข้อความติดไว้ระบุว่า “กรุณาใช้มืออัง หรือเอาหน้าผากจู้” ทำเอาหลายคนถึงกับงุนงง และสงสัยหมายความว่าอะไร สำหรับคำว่า “อัง” กับ “จู้” ซึ่งถ้าเป็นคนสุโขทัยนั้นจะเข้าใจทันที เพราะเป็นภาษาถิ่นที่พูดกันมายาวนาน โดย “อัง” เป็นคำกริยา หมายถึง นำไปใกล้ๆ ส่วนคำว่า “จู้” หมายถึง จ่อใกล้ๆ

นายสมชาย เดือนเพ็ญ รองปลัดเทศบาลตำบลในเมือง นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มจังหวัดมรดกโลกทางวัฒนธรรม จ.สุโขทัย บอกว่า ภาษาสุโขทัยมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร พูดปั๊บรู้เลยว่ามาจากสุโขทัยแน่นอน และภาษาถิ่นสุโขทัยก็ถือเป็นตัวชี้วัดความเป็นมรดกโลกอย่างหนึ่ง เพราะว่าเส้นภาษาระหว่างล้านนากับอาณาจักรสุโขทัยอยู่ที่คำว่า “ลำ” กับคำว่า “อร๋อย” ถ้าหมู่บ้านไหนพูดอร๋อย นั่นคือภาษาถิ่นสุโขทัย แต่ถ้าหมู่บ้านไหนพูดว่าลำ (อร่อย) นั่นคือภาษาถิ่นล้านนา

จากการสำรวจพบว่าภาษาถิ่นสุโขทัยไม่ได้มีพูดเฉพาะในจังหวัดสุโขทัยเท่านั้น แต่ยังพูดกันใน ต.ผาจุก อ.เมืองอุตรดิตถ์ , ต.ป่ามะม่วง อ.เมืองตาก , อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร , ต.สะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ และที่ ต.หนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีการละเล่นมังคละเภรี และมีประเพณีกินสี่ถ้วยในงานแต่งเหมือนผู้คนในแผ่นดินพระร่วงอีกด้วย ทำให้ทราบว่าภาษาถิ่นสุโขทัยสืบย้อนยาวไกลถึงสมัยสุโขทัยกว่า 700 ปี เพราะหมู่บ้านเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ จ.สุโขทัย แต่ยังคงดำรงสำเนียงภาษาสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน

สำเนียงสุโขทัยมีวิธีสังเกต คือ จะผันเสียงเอกเป็นจัตวา ผันจัตวาเป็นเอก เช่น แกงไก๋ใส๋มะเขื่อพวง , เสือเป็นเสื่อ , เสื่อเป็นเสือ และบางคำก็เก่าแก่มีรากเหง้ามาจากภาษาเขมร เช่น ปลาเห็ด หรือทอดมัน เขมรเรียก “ปรอเหิต” หมายถึงลูกชิ้น หรืออาหารที่เอาเนื้อสับ ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แล้วทำให้สุก และคำว่า “ด็อก” หรือตุ้มหู กับคำว่า “โม่โม่” ที่คนสุโขทัยใช้เรียกสุนัขให้มากินข้าว ในภาษาเขมรคือ “โมซีบาย” หมายถึงมากินข้าว

นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆที่คนสุโขทัยพูดกัน เช่น ขี้ปุ๋น (ฝรั่ง) , กะจี้ (ตะขบ) , ด็อก (ตุ้มหู) , ลุด (ลิปสติก) , ยางวง (หนังยาง) , ใบซุทิ้น (ปฏิทิน) , ปลาเห็ด (ทอดมัน) , ส่ารพี (ทัพพี) , ไน่ (ละลาย) , สุ๋หั่ว (สระผม) , ลูกแอ๊ (ลูกควาย) , งัว (วัว) , อิ๊โจ๋ (ลูกสุนัข) , ตอดตอ (ตุ๊กแก) , ตุ๊กแก้ม (จิ้งจก) , แมงบี้ (ผีเสื้อ) , เส้นแกงร้อน (วุ้นเส้น) , รถเบ๋าะ (รถบัส) , เรือบิน (เครื่องบิน) , กะบวก (หลุม) , คุ (ถังน้ำ) , มุ่น (ลอด) , นุง (ไม่กรอบ) , หยูด (เหี่ยว) และไปเอ๊ง (ไป) เป็นต้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน