30 ก.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรถโดยสารคอกหมู หรือรถสองแถวไม้ เอกลักษณ์ของสุโขทัยที่มีมายาวนานถึง 85 ปี ต้องเผชิญกับวิกฤตรอบด้าน ทั้งการระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจตกต่ำและน้ำมันแพง ประกอบกับคนใช้บริการเหลือน้อย เพราะส่วนใหญ่มีรถส่วนตัวใช้กัน ทำให้ทุกวันนี้รถคอกหมูจวนสิ้นลมหายใจ และจ่อปิดตำนานอย่างถาวร
แต่ทว่าก็ยังมีเรื่องราวดีๆในยามวิกฤตของ “รถคอกหมู” ที่วิ่งสายกงไกรลาศ-พิษณุโลก เมื่อชาวบ้านผู้ใช้บริการที่เหลืออยู่จำนวนน้อยนั้น มีความเต็มใจและพร้อมใจกันจ่ายเงินค่าโดยสารเพิ่มให้เอง โดยเจ้าของรถไม่ได้ร้องขอ ซึ่งแสดงถึงความผูกพันห่วงใย และความมีน้ำใจต่อกัน ระหว่างชาวบ้านผู้โดยสารกับรถคอกหมู
ข่าวน่าสนใจ:
นายสละ ชูเที่ยง อายุ 63 ปี และนางนงเยาว์ ชูเที่ยง อายุ 60 ปี เจ้าของรถโดยสารคอกหมู ชาว อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย บอกว่า ขับรถวิ่งเส้นทางสายกงไกรลาศ-พิษณุโลก มานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ปัญหาเริ่มมีหนักขึ้นเมื่อปี 2563 หลังเกิดโรคโควิด แล้วตามด้วยราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ซ้ำปุ๋ยแพง น้ำมันแพง ทำให้ชาวนาส่วนมากที่นั่งรถเพื่อมาซื้อของในตัวเมืองก็ไม่มี
ผู้โดยสารทุกวันนี้จึงเหลือแต่แม่ค้า กับคนทำงานรับจ้างจำนวนน้อย ทำให้วิ่งรถบางวันก็ขาดทุน แต่ก็ต้องวิ่งตามหน้าที่ เพื่อให้คนที่ไม่มีรถส่วนตัวได้นั่งมาทำงาน และซื้อของในตัวเมืองพิษณุโลก จนพวกเขาเห็นใจและสงสารที่ต้องแบกภาระค่าน้ำมันแพง จึงเพิ่มค่าโดยสารให้เองโดยไม่ได้ร้องขอใดๆ จากปกติ 25 บาท ก็ให้เพิ่มเป็น 30 บาท บางคนให้ 50 บาทก็มี
นายสละ บอกอีกว่า เมื่อก่อนมีรถคอกหมูวิ่งประจำทางสายนี้ ทั้งหมด 32 คัน ปัจจุบันเหลือ 22 คัน แต่มีมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารจริงๆแค่ 8-9 คัน เพราะไม่คุ้มค่าน้ำมัน โดยจะผลัดกันวิ่งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และ 1 วันจะมีรถวิ่ง 2 เที่ยว คือ รอบออกจากพิษณุโลกกลับกงไกรลาศ เวลา 09.00 น. กับช่วง 11.00 น. แต่วันอาทิตย์จะมีวิ่งแค่รอบเดียว
ขณะที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุ และนั่งรถคอกหมูมาตลอด 30-50 ปี บอกว่า อยากให้รถคอกหมูได้วิ่งโดยสารไปนานๆ เพราะสะดวก ราคาถูก นั่งเย็นสบายใจ และปลอดภัย จึงไม่อยากให้หยุดวิ่ง แต่ก็เข้าใจว่าเจ้าของรถต้องแบกภาระทั้งน้ำมันแพง และคนใช้บริการเหลือน้อย ก็เลยพร้อมใจกันเพิ่มค่าโดยสารให้เอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: