ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับประเขต ปี พ.ศ. 2565 นำโดยนายนาวิน อินทจักร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ประธานคณะกรรมการฯ นำคณะกรรมการฯ อาทิ ผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน ผู้แทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม พิจารณาผลงานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวศรีนคร ต.ศรีนคร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ประจำปี 2565 ซึ่งได้เข้ารอบ 3 จังหวัดสุดท้าย จากผลงานทั้งหมด 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีนายอนุสรณ์ มณีเลิศ นายอำเภอศรีนคร หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย เกษตรอำเภอศรีนคร ผู้นำท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งร่วมให้กำลังใจแก่สมาชิกที่เข้าร่วมประกวดในครั้งนี้
การประกวดดังกล่าวมีเป้าหมาย เพื่อค้นหาวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการที่ดี มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ และสามารถพัฒนาให้เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้วิสาหกิจชุมชน ให้วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ หรือผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้ ทำให้วิสาหกิจชุมชนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรมีการเรียนรู้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวศรีนคร เป็นการรวมกลุ่มประกอบกิจการชุมชน เริ่มต้นจากการเป็นกลุ่มที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งให้กับทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุโขทัย ตั้งแต่ปี 2552 และได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2556 จากนั้นในปี 2561 ได้สมัครเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ โดยใช้วิถีชีวิตอาชีพการทำนาที่มีวิสัยทัศน์ “มุ่งเน้นให้เกิดรายได้ที่มั่นคงจากอาชีพหลัก สร้างคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้กับคนในชุมชน และพื้นที่การทำนาภายนอก อย่างยั่งยืน”
มีการใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจ คือ “การตลาดนำการผลิต” เป็นการส่งเสริมอาชีพชาวนาที่สืบทอดต่อกันมา แล้วสานต่อด้วยลูกหลานชาวนา มี Young Smart Farmer (เกษตรกรรุ่นใหม่) ต่อยอดกิจกรรมโดยนำความรู้เรื่องช่องทางการตลาด เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆมาปรับใช้ ภายใต้การบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่รายได้ของครอบครัวและชุมชน วิสาหกิจชุมชน และชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ และเกิดการพัฒนาชุมชนที่ยังยืน
เมื่อกรอบแนวทางการขับเคลื่อนชัดเจนมากขึ้น สมาชิกกลุ่มเริ่มมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น กลุ่มจึงเริ่มหาช่องทางเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวเพิ่มเติม ทำการแปรรูปเป็นข้าวสาร ข้าวกล้อง และต่อยอดเป็นข้าวบดผงชงพร้อมดื่ม กล่าวได้ว่า “เราขายข้าวเป็นตัน ขยับมาขายเป็นกิโลกรัม และขายเป็นกรัม” ส่วนที่เหลือจากขั้นตอนการทำนา สีข้าวสาร จะขายได้หมดทุกส่วน (Zero Waste) ฝ่ายประชาสัมพันธ์กลุ่ม กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: