ศบค.ชุดเล็ก ตรวจความพร้อมเกาะสมุย ลุ้นให้เป็นสถานที่นำร่องรับนทท.ต่างชาติ จาก 5 ประเทศแรก รูปแบบ Samui Bubble Model ภายใต้ 6 มาตราการ 7 แผนปฎิบัติ
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 63 คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.ชุดเล็ก) นำโดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ศปก.ศบค. เดินทางด้วยเครื่องบินแอมแบร์ (บ.ท.135) กองทัพบก มายังพื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อประชุมหารือการเตรียมความพร้อมเสนอแผนรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในรูปแบบSamui Bubble Model โดยมีนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เกาะสมุย และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับ
โดยคณะฯได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานECOที่สนามบินสมุย ก่อนเดินทางไปที่วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมฟังบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อม Samui Bubble Model และตอบข้อซักถาม ต่อมาคณะฯได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมที่โรงแรม ฟลอรา โฮเต็ล ออร่า สมุย เบสต์ บีช ตั้งอยู่พื้นที่หาดละไม ต.มะเร็ต ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการบริหารจัดการของโรงแรมที่พักกักกัน Alternative State Quarantine (ASQ) และคณะได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลเกาะสมุย เพื่อดูความพร้อมของห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโควิด-19 หอผู้ป่วยรองรับกรณีตรวจพบเชื้อ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ต่อไปสำหรับรูปแบบของ Samui Bubble Model ได้กำหนดไว้ 6 มาตรการ คือ1.การคัดเลือกประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย ควบคุมการระบาดได้ดี (ตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด) ระยะที่ 1 รับเฉพาะกรุ๊ปที่จัดโดยบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น กลุ่มประเทศเป้าหมายได้แก่ ประเทศเยอรมันนี มีกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากที่สุด ประเทศนิวซีแลนด์ ผู้ติดเชื้อน้อย เดินทางไกลอยู่ได้นาน ประเทศออสเตรเลีย ผู้ติดเชื้อน้อย ใช้จ่ายต่อหัวสูง นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเป็นอันดับสอง ประเทศจีน เมืองเฉิงตู มีประชากร 80 ล้านคน มีความคุ้นเคยกับสมุยมากที่สุด และที่เที่ยวบินตรงอยู่แล้ว และประเทศมาเลเซีย มีเที่ยวบินตรงเข้าสมุย ผู้ติดเชื้อน้อย เป็นนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศไทยมากที่สุด
2.การเดินทางเข้าสมุยผู้โดยสารเดินเข้าอาคารผู้โดยสาร ผ่านพรมเช็ดเท้าฆ่าเชื้อ และมีจุดบริการเจลล้างมือแอลกอฮอล์ จะพบกับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค เพื่อตรวจเอกสารการเดินทางและคัดแยกผู้โดยสาร เพื่อทำการตรวจหาเชื้อ หากไม่พบเชื้อจะทำการแสตมป์บน ตม.6 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทราบว่าผู้โดยสารผ่านการคัดกรองเรียบร้อยแล้ว และดำเนินการผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ผู้โดยสารรอรับสัมภาระที่อาคารรับสัมภาระระหว่างประเทศ (L5) โดยสัมภาระจะนำขึ้นสายพาน โดยเว้นระยะห่างสัมภาระ เมื่อผู้โดยสารรับสัมภาระเรียบร้อยแล้ว ผู้โดยสารจะไปรอรถรับไปยังโรงแรม ตามจุดที่สนามบินกำหนด (Arrival Hall)
3.การตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากประเทศต้นทางกับสถานทูตไทย ณ ประเทศนั้นๆ และออกใบรับรองไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทาง
4.การเดินทางสู่ประเทศไทย จะต้องเดินทางโดยสายการบินไทยผ่านช่องทางสนามบินสุวรรณภูมิ หรือช่องทางที่ ศบค.กำหนด การคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ณ ช่องทางเข้าออกประเทศท่าอากาศยานสมุย โดยจัดระเบียบการลงจากเครื่องผ่านช่องทางพิเศษพื้นที่เฉพาะ การเคลื่อนย้ายสัมภาระ รวมถึงการเตรียมห้องควบคุมเฉพาะ เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรองผู้โดยสารทั้งหมด ทั้งนี้เก็บเชื้อที่ท่าอากาศยาน เพื่อส่งตรวจโรงพยาบาลเกาะสมุย ผลการตรวจใช้เวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง และนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปยังที่พักโรงแรมที่กำหนดโดยระบบขนส่งเฉพาะที่มีผู้ขับรถผ่านการฝึกอบรม จากมาตรฐานของสำนักงานขนส่งจังหวัด
5.การบริหารจัดการของโรงแรมที่พักกักกัน Alternative State Quarantine (ASQ) โดยการควบคุมของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเกาะสมุย (ศปก.อ.เกาะสมุย) ทั้งนี้มีการตรวจหาเชื้อซ้ำอีก 2 ครั้ง เมื่ออยู่ครบ 7 วัน และ 12 วัน
และ 6. การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ส่งตรวจ ณ โรงพยาบาลเกาะสมุย แบ่งออกเป็น 3 ครั้ง คือ วันแรกตรวจหาเชื้อโควิด-19ครั้งที่ 1 (บินตรงท่ากาศยานสุวรรณภูมิ/บินตรงท่าอากาศยานสมุย) เมื่ออยู่ครบวันที่ 7 ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 2 เมื่ออยู่ครบวันที่ 12 ตรวจเชื้อโควิด-19ครั้งที่ 3 และเมื่อครบกำหนด 14 วัน และผลตรวจไม่พบเชื้อจะมอบประกาศนียบัตร และสายรัดข้อมือ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางออกท่องเที่ยวภายในเกาะสมุยได้ กิจกรรมในพื้นที่ได้โดยการดูแลกำกับของบริษัทนำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์ที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ภายใต้การควบคุมสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และตำรวจท่องเที่ยว อีกทั้งเฝ้าติดตามอาการอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนปฏิบิติการ 7 แผน เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้รัดกุม รอบคอบ ปิดจุดความเสี่ยงต่างๆ คือ1.แผนทำความเข้าใจกับสถานประกอบการที่พักที่สมัครเข้า Alternative State Quarantine (ASQ) 2.แผนการรองรับของโรงพยาบาล 3.แผนประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจในชุมชน 4.แผนการคัดกรอง 5.แผนการควบคุม ดูแลความปลอดภัย ขณะพำนักในASQ 6.แผนการขนส่ง ลำเลียงการเดินทางนักท่องเที่ยว และ 7.แผนการติดตามและประเมินผลขณะที่ทาง ศปก.ศบค. ได้ให้เสนอแนะและข้อคิดเห็นสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ 1. ต้องมีการจัดตั้ง ศปก.เกาะสมุย ที่มีการบริหารงานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ 2. การเตรียมความพร้อมของท่าอากาศยาน 3.มีการจัดตั้ง Alternative Local State Quarantine (ALSQ) ที่มีประสิทธิภาพและมีจำนวนเพียงพอ 4.กำหนดพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (คนไทยสามารถร่วมกิจกรรมได้) เพื่อให้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 5.ให้มีการเข้มงวดในลักษณะคุมไว้สังเกตุของบุคคลที่เดินทางเข้า-ออกพื้นที่ ทั้งทางอากาศและทางน้ำ เพื่อสวัสดิภาพของประชาชนในภาพรวมด้วยพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ และคณะศบค.มาในพื้นที่เกาะสมุย ได้ฟังการชี้แจงจากหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ก็มีความมั่นใจในความพร้อมความตั้งใจในการที่จะมีการผ่อนคลายในมาตรการทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ยังมีรายละเอียดในบางประการที่จะต้องไปคุยกัน นอกจากนี้ยังมีศบค.เศรษฐกิจ มีการแบ่งมอบหน้าที่รับผิดชอบตามจังหวัดต่าง ๆ โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งมีการหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป
“ในสิ่งหนึ่งที่ ศบค.มีความเชื่อมั่นในระบบก็คือ ระบบการ State Quarantine 14 วัน ในห้วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีผู้ที่เข้าระบบ State Quarantine 14 วัน ถึง 84,853 ราย และพบผู้ที่ติดเชื้อเพียง 460 ราย เพราะฉะนั้นระบบ State Quarantine จึงเป็นระบบที่มีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในมาตรการป้องกันได้ แต่อย่างไรก็ตามการผ่อนคลายก็จะทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ก่อนที่จะอนุญาตให้เริ่มดำเนินการได้ก็ต้องมีการประเมินความพร้อมอีกครั้ง” พล.อ.ณัฐพล รองผู้บัญชาการทหารบก กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: