กฟผ. ชี้แจงสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศ จากอิทธิพลพายุ “เซินติญ” ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้น โดยเขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนน้ำพุงระดับน้ำเริ่มสูง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ มั่นใจทุกเขื่อนมีความแข็งแรง มั่นคง มีการตรวจสอบตามมาตรฐานสากล สามารถรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อย่างเพียงพอ
นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “เซินติญ” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ส่งผลให้มีฝนตกหนาแน่น
ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย อ่างเก็บน้ำของ กฟผ. หลายแห่งมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนน้ำพุงมีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการการระบายน้ำได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า เขื่อน กฟผ. ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ได้อย่างเพียงพอ และมีความมั่นคงแข็งแรงเนื่องจากมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อน กฟผ.แต่ละภูมิภาค โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติ (ข้อมูล ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2561) ภาคเหนือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ภาคตะวันตก เขื่อนศรีนครินทร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนสิรินธร และภาคใต้ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง สำหรับเขื่อนที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) ได้แก่ ภาคตะวันตก เขื่อนวชิราลงกรณ เนื่องจากมีฝนตกหนักในลุ่มน้ำด้านเหนืออย่างต่อเนื่อง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 6,754 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ
กักเก็บ 797 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุ เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บ107 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุ และเขื่อนน้ำพุง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 59 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุ “กฟผ. ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในเขื่อนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเขื่อนที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม จะมีการประสานการระบายน้ำให้เป็นไปตามแผนการระบายน้ำของ กรมชลประทานและคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ รวมทั้งของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแต่ละจังหวัด ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ
โดยการระบายน้ำในแต่ละครั้งจะส่งหนังสือแจ้งให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น และประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ทราบล่วงหน้า โดยประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดได้ทางเว็บไซต์ WATER.EGAT.CO.TH และแอพพลิเคชั่น EGAT Water ซึ่งสามารถดาวน์โหลดค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้อย่าง Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดจากกล้อง CCTV ของแต่ละเขื่อนอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: