กฟผ. เฝ้าระวังสถานการณ์พายุดีเปรสชันมังคุดที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง คาดส่งผลให้มีฝนตกหนักทั่วทุกภาคของประเทศ กฟผ. เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนรัชชประภาเตรียมพร้อมรองรับปริมาณน้ำที่จะเข้ามาในช่วงฤดูมรสุมนี้
นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันมังคุด (Mangkhut) ที่ปกคลุมบริเวณมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับในช่วงวันที่ 18 – 19 กันยายน 2561 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยยังมีกำลังแรง ทำให้บริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และ
ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยเขื่อนวชิราลงกรณมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น และพื้นที่เหนือเขื่อนรัชชประภามีฝนตกเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกหนัก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บของเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กฟผ. ได้ทำการพร่องน้ำไว้แล้วตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ทำให้เขื่อนต่าง ๆ มีความพร้อมที่จะรองรับปริมาณน้ำที่จะเข้ามาในช่วงฤดูมรสุมนี้
สำหรับภาคตะวันตกของประเทศไทย กฟผ. ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยสถานการณ์น้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ (ข้อมูลวันที่ 18 กันยายน 2561 เวลา 00.00 น.) มีปริมาณน้ำ 8,262 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 93 เกินระดับเกณฑ์ควบคุม แต่ยังรองรับน้ำได้อีก 598 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณยังต้องระบายน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 42 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และระบายน้ำผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) 11 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน รวมเป็น 53 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน และจะขยายเวลาการระบายน้ำในอัตรานี้ถึงวันที่ 23 กันยายน 2561 สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ (ข้อมูลวันที่ 18 กันยายน 2561 เวลา 00.00 น.) มีปริมาณน้ำ 16,306 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 92 มีระดับน้ำอยู่เกณฑ์ควบคุม สามารถรองรับน้ำได้อีก 1,439 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกันยังมีความจำเป็นต้องระบายน้ำในอ่าง ฯ เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะเกิดจากอิทธิพลของพายุดังกล่าว โดยการระบายน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเขื่อนท่าทุ่งนา 22 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และระบายน้ำผ่านทางระบายน้ำล้น 6 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน รวมเป็น 28 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ เขื่อนของ กฟผ. ได้ระบายน้ำเป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งได้รายงานแผนการระบายน้ำ ให้หน่วยงานราชการในจังหวัดต่าง ๆ ทราบ โดยประชาชนสามารถติดตามภาพสถานการณ์น้ำในเขื่อนผ่านกล้อง CCTV ตลอด 24 ชั่วโมงที่ www.water.egat.co.th หรือ Application EGAT Water
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: