กฟผ. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GPM ครั้งที่ 34 มุ่งแลกเปลี่ยนข้อมูลทิศทางการดำเนินงานด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ร่วมกันกับ 13 องค์กร ธุรกิจผลิตไฟฟ้าหลักจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 – 9 พฤศจิกายน 2561 กฟผ. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บริหารด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรธุรกิจผลิตไฟฟ้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ General Planning Managers of Southeast and Northeast Asia Electric Utilities (GPM) ครั้งที่ 34 ภายใต้แนวคิดปัจจัยขับเคลื่อนสู่อนาคตของอุตสาหกรรมไฟฟ้า เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ทิศทางการดำเนินงาน ตลอดจนทรรศนะในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าไปสู่อนาคต ใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์การเติบโต 2) นวัตกรรมและการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล และ 3) ความมั่นคงระบบไฟฟ้า โดยมี ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาด้านพลังงานของประเทศไทย และมีผู้บริหารรวมทั้งหมด 14 องค์กรที่เกี่ยวข้องจากประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เข้าร่วมประชุม ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม เลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า เมื่อหลายปีที่ผ่านมา กระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้เข้ามามีผลกระทบกับหลายองค์กร ซึ่งในภาคของพลังงานไฟฟ้าก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แม้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามีสูงขึ้น แต่การเข้ามาของพลังงานทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์กับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานทำให้ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ได้เอง และเมื่อพลังงานเหลือใช้ก็ยังสามารถนำไปจำหน่ายได้ในอนาคต (Prosumer) จึงทำให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานโดยไม่ผ่านคนกลางขึ้นมา นำไปสู่การเปิดเสรีด้านพลังงานไฟฟ้า การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่แต่ละองค์กรจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาพลังงานไฟฟ้า นำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
- พะเยา หนุ่มขโมยย่องฉกเงินร้านข้าวมันไก่ 3 ครั้งเจ้าของสุดทนแจ้งตรจับ
- มท.1 เยือนจังหวัดนครพนม เปิดงานมหกรรมเทศกาลปลาลุ่มน้ำสงคราม ประจำปี 2567 ครั้งที่ 21 ผลักดัน Soft Power อำเภอศรีสงคราม
- พิธีเปิดนิทรรศการฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์และสัตว์ร่วมยุคในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
- นักท่องเที่ยวแห่ชมดอกไม้งามดอยตุง ชิมอาหารพื้นถิ่น ถ่ายรูปดอกไม้สวย
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ แต่ละองค์กรจากประเทศสมาชิกได้นำเสนอการดำเนินงาน ภายใต้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเดิม (Disruptive Technology) ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า โดยแต่ละองค์กรมีแนวทางการดำเนินงานในอนาคตไปในทิศทางเดียวกัน คือ มุ่งสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่ง กฟผ. ได้ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานในหัวข้อ ความมั่นคงระบบไฟฟ้า เกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์พลังงานทดแทนที่จะเข้ามาในระบบไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคตเป็นจำนวนมาก เช่น การจัดตั้งศูนย์ควบคุมและพยากรณ์พลังงานทดแทน เพื่อเป็นศูนย์กลาง การควบคุมเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าในอนาคต โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ National Energy Trading Platform (NETP) ซึ่ง กฟผ. ร่วมมือวิจัยและพัฒนาระบบร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันได้อย่างเสรีในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและการศึกษาความเป็นไปได้อื่นๆ ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. อาทิ โครงการนำร่องพัฒนาสมาร์ทกริดแม่ฮ่องสอน การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร รวมทั้งนำเสนอแนวคิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าให้สามารถใช้เชื้อเพลิงได้หลากหลายและเดินเครื่องได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: