กฟผ. และหน่วยงานด้านพลังงาน ในจังหวัดกระบี่ พร้อมสนับสนุนนโยบาย Krabi Goes Green ปี 2019 โดยบริหารจัดการกระบวนการผลิตไฟฟ้าเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้จังหวัดกระบี่เป็นต้นแบบเมืองพลังงานและเป็นพื้นที่สีเขียวของแหล่งท่องเที่ยวทะเลอันดามัน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับพลังงานจังหวัดกระบี่ จัดเสวนา เรื่อง นโยบาย Krabi Goes Green 2019 โดยมี นายสมควร ขันเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายดำรงค์ ไสยะ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าภาคใต้ นายศิวเรศ ธรรมวิเศษ พลังงานจังหวัดกระบี่ นายวิมลไชย มงคล หัวหน้าโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน กฟผ. ร่วมเสวนา ณ ห้องประชุม สนามกีฬาอันดามัน สปอร์ต คลับ กระบี่
นายสมควร ขันเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า นโยบาย Krabi Goes Green เป็นแนวคิดที่จะทำให้จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดสีเขียวที่มีการพัฒนาแบบยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของทุกภาคส่วน ทั้งการท่องเที่ยว การเกษตร อุตสาหกรรม การประมง มีการเรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การรณรงค์ประหยัดพลังงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ทั้งนี้ จังหวัดกระบี่ได้มีการวางแผนการผลิตไฟฟ้าในช่วง 20 ปี ข้างหน้า (2561-2580) โดยให้ความสำคัญในการศึกษาศักยภาพพลังงานชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ชีวมวล ก๊าซธรรมชาติ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และนำข้อมูลต่างๆ มาประมวลความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบี่สู่จังหวัดต้นแบบที่พึ่งพาตนเองด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ชุมชนแหล่งท่องเที่ยว ด้านประมง ด้านการเกษตร เป็นต้น โดยจังหวัดกระบี่ได้รับรางวัล “Global low-Carbon Ecological Scenic Spot” of “Sustainable Cities and Human Settlements Award 2018 (SCAHSA 2018)” จากองค์การสหประชาชาติ ประจำปี 2561
นายศิวเรศ ธรรมวิเศษ พลังงานจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า นโยบายของรัฐที่ต้องการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนตามร่างแผน PDP ฉบับใหม่ (PDP 2018) ที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สผ.) ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั้ง 4 ภาค เพื่อร่วมพิจารณาด้านความมั่นคงไฟฟ้าในภาพรวมที่ต้องมีพลังงานหลักในแต่ละภูมิภาคแล้ว รัฐยังให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เปิดตลาดให้มีการแข่งขันพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆอย่างเหมาะสม ซึ่งจังหวัดกระบี่มีศักยภาพและสามารถเป็นจังหวัดต้นแบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างสมบูรณ์ ในปี 2569 ทั้งนี้ การอนุรักษ์พลังงานจะมีต้นทุนรวมในแต่ละปีสูงกว่าพลังงานถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ แต่ในระยะยาวอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าต้นทุนการผลิตจะต่ำลง นอกจากนี้จะต้องมีการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า และระบบโครงข่ายอัจฉริยะ การพัฒนา Smart Grid ในจังหวัดกระบี่ เพื่อการบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
นายดำรงค์ ไสยะ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าภาคใต้ (อฟภ.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ กฟผ. ตลอดระยะเวลา 49 ปีที่ผ่าน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรฐานตลอดมา ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนอยู่ดีมีความสุข สนับสนุนนโยบายรัฐในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยตามเป้าหมายในปี 2563 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและพลังงาน ซึ่งในปี 2561 กฟผ.ได้รับรางวัลด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 ที่ผ่านมา กฟผ. ได้รับ 14 รางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ระดับ 4 (องค์กรวัฒนธรรมสีเขียว) จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่มอบให้หน่วยงานที่ดูแลและใส่ใจสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานด้าน CSR เช่น โครงการชีววิถี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น พร้อมทั้งนำนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการของหน่วยงานภายใน กฟผ. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม
นายผล ขวัญนุ้ย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ กล่าวว่า ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่สนับสนุนการเผยแพร่ข่าวสารการดำเนินงานของ กฟผ. ด้วยดีมาโดยตลอด กฟผ. ได้ให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและระบบส่งไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้มาโดยตลอดเพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคงเพียงพอทุกพื้นที่ ปัจจุบันการจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เป็นไปตามแผน มีการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงมากขึ้น มีระบบการบำรุงรักษาระบบส่งอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตใต้แนวสายส่ง ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยใต้แนวสายส่ง ซึ่งประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลของ กฟผ. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่สายด่วน กฟผ. เบอร์ 1416 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายวิมลไชย มงคล หัวหน้าโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.เป็นหน่วยงานที่กำกับโดยภาครัฐ การดำเนินงานเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน ควบคู่การพัฒนาพลังงานของประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปด้วยกันอย่างสมดุล สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ได้ให้ความสำคัญต่อกระบวนการผลิตไฟฟ้า มีการควบคุมดูแลป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น น้ำ อากาศ เสียง ให้อยู่ภายใต้เกณฑ์มาตรฐาน มีการติดตั้งอุปกรณ์ ควบคุม ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ทุกกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับกิจกรรมเพื่อสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว โครงการปลูกป่าชายเลน ปลูกหญ้าทะเล การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ปู ปลา กุ้ง และ หอยชักตีน โครงการส่งเสริมอาชีพชุมชน และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ในส่วนของการพัฒนาโรงไฟฟ้าในภาคใต้ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ของคณะกรรมการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นโดยจะแล้วเสร็จภายในปี 2562
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: