กระบี่- ชาวบ้านท่าประดู่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ รวมตัวเลี้ยงหอยแมลงภู่ สร้างอาชีพใหม่ ต่อยอดโครงการ 9101 ปี 60 ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มเกษตรกรประชารัฐ สร้างรายได้จากพื้นที่ป่าชายเลนปากแม่น้ำ
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ บ้านท่าประดู่ ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ พื้นที่ที่ถูกปรับสภาพเป็นฟาร์มเลี้ยงหอยแมลงภู่ ของกลุ่มเกษตรกรชาวบ้านท่าประดู่ โดยมีนายชาตรี หลีเหล็ก ประธานกลุ่มประมงผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่ พร้อมด้วย นายวินัย ผิวดำ กำนันตำบลห้วยน้ำขาว นางสาวสำเนียง ศรีระแก้ว ประมงอำเภอคลองท่อม นายเศรษฐบุตร บุญรอด ปลัดอำเภอ และกลุ่มชาวบ้านผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่
ฟาร์มเลี้ยงหอยแมลงภู่ของชาวบ้านได้รับการสนับสนุนกลุ่มเกษตรประชารัฐ เพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ เพื่อส่งเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชน ถือว่าเป็นอาชีพหนึ่ง ที่ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ เหมาะสำหรับชาวบ้านที่อยู่ใกล้บริเวณปากแม่น้ำป่าชายเลน โดยกลุ่มเลี้ยงหอยแมลงภู่ตำบลห้วยน้ำขาวเป็นหอยแมลงภู่พันธุ์ทั่วไป มีกระชังเลี้ยงประมาณ 30 กระชัง 1 กระชังจะเลี้ยงได้ 90-100 พวงตามมาตรฐานทั่วไป
หอยแมลงภู่ (หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Green Mussel) เป็นหอยสองฝา อาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่มีความลึก 2-8 เมตร ถ้าดูที่เปลือกจะแยกเพศไม่ได้ ต้องดูที่เนื้อใน ตัวผู้มีสีครีมน้ำตาลอมเหลือง ส่วน ตัวเมียจะมีสีส้ม-แดง เมื่อช่วงมีไข่จะยิ่งแดง
หอยแมลงภู่เป็นอาหารทะเลที่มากด้วยแร่ธาตุจำเป็นสำหรับคนเรา เช่น ธาตุเหล็ก ทองแดง สังกะสี แคลเซียม และที่สำคัญมี ไอโอดีน สูงถึง 600 ไมโครกรัม/หอย 1 กิโลกรัม (มากกว่าเนื้อหมูประมาณ 2 เท่า) มี วิตามินบีรวม มีปริมาณโคเลสเตอรอลต่ำ ให้ แคลอรี่ต่ำ เหมาะกับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก
นายวินัย ผิวดำ กำนันตำบลห้วยน้ำขาว กล่าวว่า โครงการเลี้ยงหอยแมลงภู่เป็นการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไปในตัว เป็นแหล่งผลผลิตทางทะเล ตำบลห้วยน้ำขาวมีการทำอาชีพประมงชายฝั่งอยู่เป็นหลัก คนในหมู่บ้านและสมาชิกก็ได้ทยอยนำหอยแมลงภู่ออกไปจำหน่าย นอกจากนั้นยังมีคณะมาศึกษาดูงานหรือขั้นตอนการผลิตอยู่เป็นประจำ
นางสำเนียง ศรีระแก้ว ประมงอำเภอคลองท่อม กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการ 9101 ปี 60 ทางกลุ่มก็สามารถต่อยอดได้เลยเพราะว่าผลผลิตที่ได้ก็ทยอยขายไปเรื่อยๆ พอกระชังไหนว่างก็จะทำการสั่งซื้อหอยมาเลี้ยงต่อ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งปี และมีผลผลิตออกสู่ตลาด ข้อดีการเลี้ยงหอยแมลงภู่ คือแค่ซื้อพันธุ์หอยแมลงภู่มาเพาะเลี้ยงก็สามารถนำไปขายได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของอาหารของ เพราะหอยแมลงภู่จะกินแพลงตอนจากธรรมชาติ ส่วนอุปสรรคของการเลี้ยงคือน้ำที่ไม่ได้คุณภาพจะทำให้หอยตายจึงไม่สามารถนำออกจำหน่ายได้ ซึ่งเกษตรกรจะต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำอยู่ตลอดเวลา
สำหรับการเลี้ยงหอยแมลงภู่ ถือว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน เป็นการลดต้นทุนในการเลี้ยงโดยไม่ต้องอาหาร ซึ่งอาหารส่วนใหญ่ได้มาจากเพลนตอล ที่มาจากธรรมชาติ 100 % เลี้ยงไว้รอบละ 4 เดือนก็สามารถเก็บหอยออกจำหน่ายได้ รอบละ 40 – 50 กิโลกรัม โดยราคาหอยแมลงภู่ตามท้องตลาดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-70 บาท สำหรับใครที่สนใจและต้องการศึกษาเรียนรู้ก็สามารถที่จะโทรสอบถาม นายชาตรี หลีเหล็ก ผู้ใหญ่บ้านท่าประดู่ได้ 089-291-0244
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: