เมื่อย้อนกลับไปในอดีต จังหวัดกระบี่เป็นแหล่งเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์แห่งแรก ๆ ของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2504 ได้มีการเปิดเหมืองลิกไนต์ที่บริเวณคลองปูดำ อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าลิกไนต์กระบี่ ซึ่งเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507 ผลิตไฟฟ้าส่งให้กับประชาชนในภาคใต้ตอนล่าง และได้ทำหน้าที่นี้อย่างต่อเนื่องจนโรงไฟฟ้าหมดอายุ ปลดออกจากระบบไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2538
เป็นเวลากว่า 30 ปีที่โรงไฟฟ้าลิกไนต์กระบี่ ได้นำเชื้อเพลิงถ่านหินมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อพัฒนาประเทศ เสริมสร้างเศรษฐกิจ และอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชน เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินจะกลับมาตั้งที่จังหวัดกระบี่อีกครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้อาวุโสในชุมชนจะไม่รู้สึกวิตกกังวล เพราะพวกเขาเคยได้เห็นและสัมผัสด้วยตัวเองมาแล้ว
นายบูสัน ตาวัน อายุ 61 ปี ชาวตำบลศรีบอยา อาชีพประมงเคยได้ยินเรื่องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือที่เขาขนถ่านหินมาจากต่างประเทศ ไม่กังวลว่าจะหาปลาไม่ได้ เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินก็เคยมีมาก่อน ไม่เห็นว่ามีผลกระทบอะไร ยังหาปลาได้ ไม่เห็นสัตว์น้ำจะหาย ป่าโกงกางก็สมบูรณ์อยู่ ขอให้มีแสงสว่าง สะดวกสบายก็แล้วกัน เพื่อลูกหลานของเรารุ่นต่อไป”
นายทรงศักดิ์ รัตนเดช อายุ 67 ปี ชาวตำบลปกาสัย กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลดีต่อสังคม สาธารณะจะได้ใช้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้า ผลกระทบอาจมีบ้างเล็กน้อย แต่ประโยชน์ที่จะได้มีมากกว่า ประเทศอื่นเขาก็ใช้เหมือนกัน ลองหาความรู้ทางอินเตอร์เน็ตก็จะรู้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดเพิ่มขึ้นในโลกมากกว่าเชื้อเพลิงอย่างอื่น อยู่ตรงนี้มา 66 ปีแล้ว ก็ไม่มีปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น อยากจะให้รัฐบาลสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่”
แม้วันเวลาที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ล่วงเลยไปกว่า 20 ปีแล้ว ก็ไม่นานเกินไปที่หลายคนยังจำภาพเก่าๆ ได้ ว่าการมีโรงไฟฟ้าไม่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพ สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากอดีตสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ คือ เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำสมัยกว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนและระบบการติดตามตรวจสอบผลกระทบต่อชุมชมและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ที่สำคัญคือ การมีรายได้จากเงินกองทุนที่จะมาพัฒนาความเจริญของท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในอนาคต แต่ต้องไม่ลืมว่า ทุกอย่างเริ่มต้นได้ด้วยการ “เปิดใจและแสวงหาข้อเท็จจริง “ถ่านหิน เปิดใจรับเพราะถ่านหินไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนกระบี่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: