DSI ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรณีบุคคลร่วมกันยึดครองเอกสารสิทธิที่ดินของชาวบ้านที่รือเสาะเพื่อนำไปเป็นของตนเองให้ได้รับความเป็นธรรม สู่การลงนามรับมอบสิทธิการครอบครองที่ดินให้กับราษฏรเพื่อคืนความสุขให้ประชาชนในพื้นที่
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 กันยายน 2567 ที่หอประชุมอำเภอรือเสาะ ณ ที่ว่าการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส นายซูปียัน แดเมาะเล็ง นายอำเภอรือเสาะ เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามรับมอบสิทธิการครอบครองที่ดินให้กับราษฏร์ม.8 บ้านกำปงบารู (บ้านบียิห์) ตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนายเจตนา เหมมุน ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.อ.สิทธิชัย บำรุงเขต ผบ.ฉก.ทพ.46 นายศุภชัย ศุภกิจจารักษ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจรือเสาะ นายสัมพันธ์ เนตรวชิรกุล เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส สาขารือเสาะ นายจีรพันธ์ มาชาวป่า หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งมีประชาชนชาวตำบลเรียงกว่า 30 คนเข้าร่วมพิธีลงนามรับมอบอย่างพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ตามที่พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้ให้นโยบายในการปฏิบัติราชการว่า ให้เน้นงานด้านการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ยุติธรรมเข้าไปหาประชาชน โดยนำความกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้หน่วยงานสังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดี พิเศษ ตามพระราชบัญญัติ การสอบสวนคดีพิเศษฯ และการอำนวยความยุติธรรมให้กับ ประชาชนในพื้นที่ ได้รับนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติงานอย่างจริงจัง
โดยสืบเนื่องมาจากกลุ่มผู้ร้องซึ่งเป็นราษฎรในพื้นที่ ตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ได้มีการร้องขอความเป็นธรรมไปยัง หน่วยงานราชการหลายหน่วยในห้วงปี 2565 ต่อเนื่อง 2566 โดยได้มีการร้องว่ามีกลุ่มบุคคลทำการยึดถือครอบครองเอกสารสิทธิที่ดินประเภท น.ส.3 ของตนเองนำไปออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกลุ่มผู้ร้องได้รับความเดือดร้อนจึงได้มีการร้องขอความเป็นธรรมผ่านไปยังสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนราธิวาส ซึ่งจากการพิจารณาเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของในที่ดินซึ่งเชื่อว่าศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างดีและสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องนี้ได้ จึงได้ส่งเรื่องดังกล่าวมาให้พิจารณาจากการสืบสวนพบว่าข้อเท็จจริงในเรื่องการขัดแย้งนี้นอกจากเป็นกรณีพิพาทเรื่องสิทธิการครอบครองที่ดินตามเอกสาร น.ส.3 แล้วยังจะพิจารณาด้วยว่าพฤติกรรมของผู้ถูกร้องอาจเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาหรือไม่อย่างไร แต่ทั้งนี้คณะพนักงานสืบสวนเห็นว่าการดำเนินการต่างๆ นั้นจำเป็นจะต้องดำเนินการด้วยความยุติธรรมและเพื่อยุติความขัดแย้งที่อาจเป็นต้นเหตุของความรุนแรงในพื้นที่ได้ จึงมุ่งประเด็นไปเรื่องอำนวยความเป็นธรรมควบคู่กันไป เนื่องจากพบว่าข้อเท็จจริงในเรื่องการขัดแย้งในที่ดินบริเวณที่ร้องเรียนขัดแย้งกันมาตั้งแต่ปี 2521 และยังไม่สามารถหาทางออกที่ดีได้และเป็นที่พอใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
สำหรับความเป็นมาในเรื่องนี้เริ่มจากเมื่อปี 2510 ใน พื้นที่หมู่ที่ 8 ตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส มีกลุ่มทุนจากจังหวัดภูเก็ตซึ่งมีความชำนาญในการประกอบกิจการเหมือง ได้มาซื้อที่ดินที่มีเอกสาร น.ส.3 จากผู้มีชื่อครอบครองเพื่อนำไปประกอบกิจการเหมืองโดยการขุดและร่อนหาแร่ดีบุก มีการซื้อที่ดินของชาวบ้าน โดยได้มีข้อตกลงด้วยวาจากับชาวบ้านผู้ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามเอกสาร น.ส.3 ฉบับเดิมว่าเมื่อทำเหมืองเป็นที่พอใจแล้วจะคืนที่ดินให้แก่บุคคลนั้นๆ ต่อมาปี 2518 ผู้ทำ เหมืองได้เลิกประกอบกิจการ และกลุ่มผู้ถูกร้องไปพบนายเหมืองที่จังหวัดภูเก็ต และแจ้งว่ามาขอรับเอกสาร น.ส.3 ที่นายเหมืองได้ซื้อจากชาวบ้านในพื้นที่ โดยจะนำกลับไปมอบให้แก่ผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองเดิม แต่ภายหลังไม่ยอมจดทะเบียนโอนคืนให้แก่ผู้มีชื่อที่เป็นเจ้าของเดิม แต่กลับนำเอกสาร น.ส.3 ไปจดทะเบียนเป็นของตัวเองและเข้าครอบครองที่ดิน
ซึ่งในปี 2565 กระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่เศษ และจากการตรวจสอบสารบบที่ดินพบว่า 1 ใน 9 แปลงเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่เศษ สภาพปัจจุบันพบว่าได้มี
ราษฎรมาตั้งบ้านเรือนสร้างบ้านพักอาศัยเป็นหมู่บ้านที่มีบ้านเลขที่จำนวน 57 หลังคาเรือน ไม่มีบ้านเลขที่ จำนวน 11 หลังคาเรือน มีราษฎรประมาณ 242 คน
ซึ่งจากการประสานงานและเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยระหว่างกลุ่มผู้ร้องกับกลุ่มผู้ถูกร้อง ของคณะพนักงานสืบสวน จนกลุ่มผู้ถูกร้องยินยอมที่จะแบ่งที่ดินให้แก่ชาวบ้านที่ได้ตั้งบ้านเรือนในเขตที่ดินตามเอกสารน.ส.3 แปลงนี้ แต่ติดข้อกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องในการออกโฉนดที่ดิน รวมถึงเงินค่าใช้จ่ายในการแบ่งแยกที่ดินให้แก่ผู้มีบ้านเรือนตั้งอาศัยอยู่ ส่วนกลุ่มชาวบ้านซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บนที่ดินมีความต้องการจะได้โฉนดที่ดินแต่ไม่ทราบขั้นตอนกฎหมาย รวมถึงไม่ทราบว่าจะมีค่าใช้จ่าย อย่างไรคณะพนักงานสืบสวนจึงได้ประสานงาน กับสำนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส และสำนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส สาขารือเสาะ จนสามารถแก้ไขไว้ว่าจะนำรายชื่อชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนในที่ดินตามเอกสาร น.ส.3 ไปจดทะเบียนเป็นชื่อผู้ครอบครองร่วมกับกลุ่มผู้ถูกร้องตามความยินยอม และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะนำชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของบ้านและได้รับ การพิสูจน์สิทธิผ่านอำเภอรือเสาะ ว่าเป็นผู้สมควรที่จะมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน ที่จะออกให้สำหรับเป็นที่ตั้งบ้านเรือน โดยคาดว่าจะนำที่ดินดังกล่าวร่วมโครงการเดินสำรวจในการออกเอกสารสิทธิของกรม ที่ดินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อไป
ขณะที่นายตอเฮ สาและ อายุ 47 ปี ชาวบ้านที่ได้รับเอกสารสิทธิที่ดินคืน เผยว่าดีใจและขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งกรณีนี้เราได้มีการต่อสู้กันมานานมากแล้ว ซึ่งหลังจากนี้เราจะได้มีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่มีอะไรเลย มีแต่ตัวบ้านและเป็นบ้านที่ไม่มีบ้านเลขที่ ขอบ้านเลขที่ไม่ได้ขอไฟฟ้าก็ไม่ได้เดือดร้อนมาก ซึ่งพอมาวันนี้ได้รับเอกสารสิทธิที่ดินแล้ว ชาวบ้านจะได้สามารถไปขอไฟฟ้าและบ้านเลขที่ได้..
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: